การละเล่นชักเย่อ-มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอันดับ๑๐ของเวียดนาม
( VOVworld )-ที่ประชุมครั้งที่ ๑๐ ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนของยูเนสโกในเมืองหลวงวินด์ฮุก ประเทศนามีเบียได้ขึ้นทะเบียนชักเย่อของเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐเกาหลีและฟิลิปปินส์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นข่าวดีสำหรับเวียดนาม โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ชาวบ้านยังอนุรักษ์การละเล่นและพิธีชักเย่อดั้งเดิม
( VOVworld )-
ที่ประชุมครั้งที่ ๑๐ ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนของยูเนสโกในเมืองหลวงวินด์ฮุก ประเทศนามีเบียได้ขึ้นทะเบียนชักเย่อของเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐเกาหลีและฟิลิปปินส์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นข่าวดีสำหรับเวียดนาม โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ชาวบ้านยังอนุรักษ์การละเล่นและพิธีชักเย่อดั้งเดิม
การละเล่นชักเย่อที่จังหวัดหวิง ฟุก
การละเล่นและพิธีชักเย่อพื้นบ้านมีมาช้านานและยังเล่นกันอยู่ในเขตชุมชนปลูกข้าวในประเทศแถบตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐเกาหลีจารึกการละเล่นและพิธีชักเย่อพื้นบ้านเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการการศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติหรือยูเนสโก แม้การละเล่นและพิธีชักเย่อของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกันในการสะท้อนวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละชาติ แต่มีจุดเหมือนกันคือ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นช่วงเริ่มต้นฤดูทำการเกษตรของชาวนาเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้ได้ผลที่ดีและเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน ในประเทศกัมพูชา การละเล่นชักเย่อได้รับการจัดขึ้นเป็นประจำโดยชุมชนที่อาศัยริมทะเลสาบและบริเวณพื้นที่ใกล้นครวัด ส่วนที่ประเทศฟิลปิปินส์ การละเล่นชักเย่อถูกจัดขึ้น ณ ฮุงดวน ที่ได้รับการรู้จักแพร่หลายด้วยทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาล ส่วนที่สาธารณรัฐเกาหลี การละเล่นชักเย่อมีขึ้นในหลายพื้นที่ ร.ศ.ดร.เหงวียน วัน ฮุย กรรมการสภามรดกของชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการจัดทำเอกสารเปิดเผยว่า “ การละเล่นและพิธีชักเย่อสะท้อนวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การทำนาได้ผลดี ชาวบ้านมีชีวิตที่สงบสุข ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่มีมาตั้งแต่เนิ่นนาน ”
สำหรับเวียดนามนั้น การละเล่นชักเย่อมีความแพร่หลายและเล่นกันในหลายพื้นที่ แต่การละเล่นและพิธีชักเย่อของแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะเช่น จังหวัดลาวกาย หวิงฟุก บั๊กนินห์และนครหลวงฮานอย ซึ่งมักจะเล่นกันในงานเทศกาลพื้นบ้านต่างๆและเทศกาลตรุษเต็ตประเพณีของชาติ
วิธีการเล่นของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน แต่จะมีการแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย แล้วดึงเชือกมะนิลา มีบางท้องถิ่นในอำเภอซอก เซิน กรุงฮานอยใช้ไม้ไผ่แก่แทนโดยเยาวชนของหมู่บ้านเตรียมไว้ก่อนหลายเดือน ส่วนที่กรุงฮานอย มีการละเล่นชักเย่อแบบนั่งโดยจะเล่นในงานเทศกาลศาลเจ้าเจิ๊น หวู ในวันที่ ๓ เดือน ๓ ตามจันทรคติทุกปี งานถูกจัดขึ้น ณ หมู่บ้าน หงอกจี่ ตำบลแถก บ่าน เขตลองเบียน นายเล วัน กึอ ผู้ดูแลศาลเจ้าเจิ๊น หวูเปิดเผยว่า การละเล่นชักเย่อแบบนั่งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ขาดมิได้ในเทศกาลตรุษเต็ตในวสันตฤดู การละเล่นชักเย่อไม่เพียงแต่เป็นการละเล่นอย่างสนุกสนานในยามวสันต์เท่านั้น หากยังสะท้อนความจริงใจของชาวบ้านในการขอให้เทพเจ้าคุ้มครองให้ครอบครัวตนและชาวบ้านคลาดแคล้วจากภัยพิบัติต่างๆอีกด้วย นายกึอและชาวบ้านรู้สึกปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อข่าวที่การละเล่นชักเย่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตนของมนุษยชาติ นายกึอกล่าวว่า “ พวกเรารู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งและรู้สึกภูมิใจต่อประเพณีการละเล่นชักเย่อที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ ผู้เล่นชักเย่อแบ่งเป็นกลุ่มหมานเดื่อง หมานเจ๋อและหมานเดี่ย พวกเราจะทำพิธีไหว้เทพเจ้าก่อนและหลังการเล่นชักเย่อ ”
การละเล่นชักเย่อแบบนั่งที่ศาลเจ้าเจิ้น หวู กรุงฮานอย
ผู้สูงอายุของหมู่บ้านหงอก จี่เล่าถึงที่มาของการละเล่นและพิธีชักเย่อแบบนั่งว่า เมื่อเกิดภัยแล้ง หมู่บ้านหงอกจี่มีบ่อน้ำบาดาล ๑๒ แห่งแต่มีถึง ๑๑ แห่งที่น้ำแห้งขอดเหลือบ่อน้ำบาดาลแห่งเดียวที่ยังมีน้ำ ชาวบ้านหวงแหนน้ำและกลัวว่า ชาวหมู่บ้านอื่นมาตักน้ำเอาจึงนั่งกอดบ่อน้ำบาดาลนี้ให้แน่น เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาที่ยากเข็น ผู้สูงอายุของหมู่บ้านได้คิดการเล่นชักเย่อแบบนั่งขึ้นมา โดยวิธีการชักเย่อมีดังนี้ ลูกทีมของแต่ละฝ่ายจะเกาะเอวหัวแถวเรียงต่อๆกันและเริ่มเล่นต่างฝ่ายต่างพยายามดึงให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาในแดนของตน ถ้าฝ่ายใดเข้ามาในแดนของอีกฝ่ายก็ถือว่าแพ้ ร.ศ.ดร.เหงวียน วัน ฮุย เปิดเผยต่อไปว่า
“ วัฒนธรรมการละเล่นชักเย่อสะท้อนความหวังของมนุษย์ในอนาคตให้แก่ตนเองและให้แก่หมู่บ้าน ดังนั้นผู้ที่เล่นและชาวบ้านจึงรู้สึกสนุกสนานและไม่ถือการแพ้หรือชนะเป็นเรื่องหลัก สิ่งที่สำคัญคือพวกเขาได้เข้าร่วม ทั้งนี้และทั้งนั้นได้สร้างวัฒนธรรมของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งคุณค่าของชักเย่อได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ไม่มีตัวตน ”
การละเล่นและพิธีชักเย่อเป็นประเพณีของสังคมที่สร้างความเสมอภาคและมีการเล่นในหลายประเทศสมาชิกซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ความรู้และวิธีการเล่นชักเย่อถูกเผยแพร่จากปากต่อปาก การดูและการเล่น คุณค่าทั้งหมดนี้ทำให้การละเล่นและพิธีชักเย่อของเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐเกาหลีและฟิลปปินส์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์การยูเนสโก .