(VOVWORLD) - บ้านโรง หรือ บ้านกลาง คือสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน รวมถึงชนเผ่าเซอดัง ซึ่งเพื่อให้บ้านโรงคงอยู่คู่กาลเวลา นอกจากการช่วยเหลือจากพรรคและรัฐ จังหวัดกอนตูมได้เชิญช่างศิลป์และชาวบ้านเข้าร่วมการฟื้นฟูบ้านโรงของชนเผ่าเซอดังห่าลังเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของบ้านโรงให้ทรงคุณค่าตลอดกาล
งานเทศกาลของหมู่บ้าน Đăk Đe |
งานเทศกาลที่สำคัญของชนเผ่าเซอดังในจังหวัดกอนตูมมักจัดขึ้นในหน้าแล้ง โดยชาวบ้านจะชวนกันมาชุมนุมและจัดกิจกรรมต่างๆอย่างสนุกสนานบริเวณบ้านโรงประจำหมู่บ้าน ซึ่งถ้าหากไม่มีบ้านโรงก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆของชุมชนขาดความสนุกสนาน
นาย อาทิว อายุ 70ปี ซึ่งเป็น 1 ในช่างศิลป์อาวุโส 4 คนของหมู่บ้าน Đăk Đe ตำบล Rờ Kơi อำเภอ Sa Thầy ที่รู้จักเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านโรงของชนเผ่าเซอดังห่าลังได้เผยว่า หลังจากฟื้นฟูและเปิดบ้านโรงประจำหมู่บ้าน Đăk Đe เมื่อต้นปีที่แล้ว ชาวบ้านต่างก็รู้สึกปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างมากและภาคภูมิใจในบ้านโรงสัญลักษณ์ของจิตใจแห่งกลุ่มมหาสามัคคีชนในชาติและพลังที่เข้มแข็งของชุมชน
“เราได้ก่อสร้างบ้านโรงเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนและชนเผ่าเซอดังห่าลัง โดยการชี้นำและการช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุและจิตใจจากพรรคและรัฐได้สร้างแรงจูงใจและความชื่นมื่นในหมู่ประชาชน ส่วนชาวบ้านได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างเข้มแข็งเพื่อมีส่วนร่วมก่อสร้างบ้านโรงให้โอ่โถงสวยงาม”
ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูบ้านโรงตามเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเซอดังห่าลัง ชาวบ้านหมู่บ้าน Đăk Đe กว่า 200 ครอบครัว รวมกว่า 880 คนได้จัดการประชุมหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังได้รับการช่วยเหลือจากพิพิธภัณฑ์และหอสมุดจังหวัดกอนตูมผ่านการจัดสรรภาพถ่าย ข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆในงานทำบุญขึ้นบ้านโรง ส่วนชาวบ้านได้หาวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ หญ้าคา ไม้ไผ่ ศึกษาวิธีการตกแต่ง อาทิ การออกแบบลวดลายและวิธีการก่อสร้างบ้านโรงแบบดั้งเดิม นาย อานัง ช่างศิลป์อาวุโสคนหนึ่งได้เผยว่า ความสามัคคีและความมุ่งมั่นในระดับสูงของชาวบ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญของการฟื้นฟูและก่อสร้างบ้านโรงให้แล้วเสร็จ
“ทั้งเจ้าหน้าที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้สูงอายุและเยาวชนสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจในการก่อสร้างบ้านโรงให้แล้วเสร็จ”
ส่วนนาย อาอุน อายุ 62 ปี อาศัยในหมู่บ้าน Đăk Đe ตำบล Rờ Kơi อำเภอ Sa Thầy ได้เผยว่า
“ผมได้ศึกษาเรื่องการแสดงฆ้องโบราณและการฟ้อน “ซวาง”กับศิลปินอาวุโสเพื่อสอนการตีฆ้องและการฟ้อน “ซวาง”ให้แก่คนรุ่นใหม่ อีกทั้งศึกษาเรื่องการออกแบบลวดลายบนเสาและคานของบ้านโรงเป็นเวลา 2 วันเพื่อวาดรูปลวดลายออกมา ซึ่งผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่มีส่วนร่วมก่อสร้างบ้านโรงอย่างสวยงาม”
การแสดงฆ้อง ที่ บริเวณบ้านโรง |
จากการเข้าร่วมของชาวบ้านทุกคน บ้านโรงประจำหมู่บ้าน Đăk Đe ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จหลังจากก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน โดยบ้านโรงมีความสูงเกือบ 13 เมตร ยาว 9.4 เมตร หน้ากว้าง 5 เมตร ซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐจากโครงการเป้าหมายแห่งชาติเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเขตชนกลุ่มน้อยและเขตเขา นาย เหงวียนวันกวาง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และหอสมุดจังหวัดกอนตูมได้เผยว่า นอกจากอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมแล้ว การฟื้นฟูบ้านโรงยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงชุมชนและส่งเสริมคุณค่ามรดกวัฒนธรรมในชีวิตประจำของชาวบ้าน
“การระดมแหล่งพลังของชุมชนในการฟื้นฟูบ้านโรงได้ช่วยให้คนรุ่นใหม่ศึกษาวิธีการก่อสร้างบ้านโรงของคนรุ่นก่อนเพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่า โดยคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและร่วมกับชาวบ้านในการฟื้นฟูและอนุรักษ์บ้านโรง”
ปัจจุบัน จังหวัดกอนตูมมีหมู่บ้านชนกลุ่มน้อย 437 แห่งจากทั้งหมด 503 แห่งที่มีบ้านโรง โดยเป็นบ้านโรงแบบดั้งเดิม 213 แห่ง โดยพรรค รัฐ ทางการปกครองท้องถิ่นและประชาชนร่วมมือในการฟื้นฟูบ้านโรงเพื่อให้สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมนี้ทรงคุณค่าตลอดกาลและเสียงฆ้องจากบ้านโรงดังกังวาลไปทั่วหมู่บ้านทุกแห่ง.