ฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็กในชีวิตปัจจุบัน
Anh Tuấn -  
(VOVWORLD) - ในความทรงจำแห่งวัยเด็กของคนเวียดนามหลายรุ่น การละเล่นพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตวัฒนธรรมและจิตใจ แต่แนวโน้มการพัฒนาสังคมในปัจจุบันทำให้การละเล่นพื้นบ้านค่อยๆสูญหายไป ซึ่งการฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็กในชีวิตปัจจุบัน นอกจากการเข้าร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการเข้าร่วมของชุมชนด้วย
การละเล่นพื้นบ้านบริเวณโดยรอบสระหว่านเกี๋ยม หรือ สระคืนดาบ (nhandan.com.vn) |
การละเล่นพื้นบ้านมีแหล่งกำเนิดจากการทำงาน การผลิตและความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน เวียดนามมี 54ชนเผ่า โดยแต่ละชนเผ่ามีการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิเช่น ชนเผ่ากิงห์มีการละเล่นพื้นบ้านที่หลากหลาย เช่น งูกินหาง โพงพาง ชักเย่อ เป็นต้น ส่วนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆก็มีการละเล่นพื้นเมืองที่ค่อนข้างหลากหลายและน่าสนใจ เช่น การรำแซว่ การตำขนมแบ๋งใหญ่ การโยนลูกช่วง การยิงธนู ชักเย่อ ดันไม้และการเดินขาหยั่ง เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมในโอกาสงานเทศกาลต่างๆของประชาชนชนกลุ่มน้อย โดยการละเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการออกกำลังกายเท่านั้น หากยังสะท้อนการแสดงศิลปะชั้นสูง งานรื่นเริงที่สนุกสนาน ความฉลาด การร้องเพลงโต้ตอบกัน ตลอดจนการเชิดชูกิจกรรมในชุมชนที่ดึงดูดชาวบ้านเข้าร่วมเป็นจำนวนมากท่ามกลางความสามัคคี
การละเล่นพื้นบ้านมี 2 รูปแบบได้แก่การละเล่นพื้นบ้านในงานเทศกาลและการละเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็ก โดยการละเล่นพื้นบ้านในงานเทศกาลสื่อถึงเรื่องตำนานและวิถีชีวิตของชาวบ้านในขณะที่การละเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็กเป็นกิจกรรมเพื่อความรื่นเริงที่มีการกำหนดและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ตามความต้องการ คุณ เหงวียนหยือบ๋าวเวียน นักเรียนโรงเรียนมัธยมตอนต้นด๊งดา กรุงฮานอยได้เผยว่า“ดิฉันชอบการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ เช่น กระโดดเชือกและโยนลูกช่วง เพราะช่วยให้หนูคลายความเครียดจากเรียน”
การสืบสานการละเล่นพื้นบ้านผ่านการพูดคุยทำให้การละเล่นบางอย่างสูญหายไปบางส่วนในชีวิตปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาของตัวเมืองและเทคโนโลยีทำให้เด็กๆไม่ชอบการละเล่นพื้นบ้านและหันมาเล่นวีดีโอเกมส์และเกมส์ออนไลน์แทน ดังนั้น การฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านต้องมีการคัดเลือกการละเล่นที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เป็นการแสดงศิลปะ ส่งเสริมการออกกำลังกาย และมีความปลอดภัยเพื่อให้การศึกษาด้านคุณธรรมและความภาคภูมิใจในประชาชาติ ดร.เจิ่นฮิวเซิน รองประธานสมาคมวรรณกรรมและศิลปะพื้นเมืองเวียดนามได้เผยว่า“เพื่อฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้าน ต้องมีมาตรการต่างๆ โดยหน่วยงานบริหารภาครัฐต้องทำการวิจัย จัดทำกลไกและนโยบาย เช่น กำหนดให้โรงเรียน คอนโดและเขตชุมชนก่อสร้างสนามเด็กเล่น สอดแทรกการละเล่นพื้นบ้านในหลักสูตรการเรียนการสอนตามโรงเรียนต่างๆ ส่วนในระดับครอบครัว พ่อแม่ควรรละเล่นพื้นบ้านกับลูกๆอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละสัก 30 นาทีก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งต้องส่งเสริมการละเล่นพื้นบ้านทั้งในครอบครัว เขตชุมชน คอนโด โรงเรียน รวมทั้งการแนะนำการละเล่นพื้นบ้านผ่านทางอินเตอร์เน็ตและภาพยนตร์ต่างๆเพื่อทำให้เด็กๆชอบการละเล่นพื้นบ้านมากขึ้น”
ในหลายปีมานี้ การละเล่นพื้นบ้านได้รับการฟื้นฟูในงานเทศกาลต่างๆและได้รับการแนะนำในพิพิธภัณฑ์ หอวัฒนธรรมเด็กและสโมสรต่างๆสำหรับเด็ก นอกจากนี้ ยังมีการจัดการละเล่นพื้นบ้านในกิจกรรมวัฒนธรรมในเขตชุมชนมากขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ส่วนโรงเรียนได้รับการส่งเสริมให้จัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่มีการละเล่นพื้นบ้านเพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับเกียรติประวัติที่ดีงามของคนรุ่นก่อน มีบริษัทหลายแห่งที่ผลิตของเล่นพื้นบ้านแทนของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ การละเล่นพื้นบ้านช่วยส่งเสริมการออกกำลังกาย พัฒนาสมอง รวมทั้งฟื้นฟูกิจกรรมวัฒนธรรมและให้การศึกษาเกียรติประวัติแห่งความรักชาติ นาย จูเตี๊ยนดาตจากกรุงฮานอยได้เผยว่า“การละเล่นพื้นบ้านมีประโยชน์มากมาย หนึ่งคือเป็นกิจกรรมรื่นเริง สองคือช่วยส่งเสริมการออกกำลังกาย สามคือสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆในเขตชุมชน”
ทั้งนี้และทั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า การละเล่นพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงเกียรติประวัติและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม เป็นความทรงจำในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและไร้เดียงสา ซึ่งการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของการละเล่นพื้นบ้านเป็นหน้าที่ที่สำคัญของหน่วยงานวัฒนธรรมและประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อไม่ให้เอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติถูกหลงลืมและสูญหายไป.
Anh Tuấn