ร่องรอยอารยธรรมแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงในวัฒนธรรมราชธานีทังลอง

(VOVWORLD) - ในตลอดระยะเวลาหลายพันปี แม่น้ำห่งหรือแม่น้ำแดงได้พัดพาตะกอนทับถมสองฟากฝั่งสร้างเป็นเขตที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงกรุงฮานอย ซึ่งแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมข้าวนาดำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่งเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งคุณค่าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนเวียดนามอีกด้วย
ร่องรอยอารยธรรมแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงในวัฒนธรรมราชธานีทังลอง - ảnh 1ภาพแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง (truyenhinhdulich.vn)

อารยธรรมแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงได้ถือกำเนิดมาอน่างยาวนาน แม้จะไม่มีอิทธิพลเหมือนอารยธรรมที่สำคัญอื่นๆ แต่อารยธรรมแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงก็มีคุณค่าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ นาง เลมิง นักวิชาการจากสถาบันวิจัยวัฒนธรรมและศิลปะเวียดนามได้เผยว่า

"อารยธรรมข้าวนาดำมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาประวัติศาสตร์โลก โดยเมื่อเอ่ยถึงอารยธรรมข้าวนาดำ ผู้คนมักจะคิดถึงเขตที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ เช่น แม่น้ำไทกริสในตะวันออกกลาง แม่น้ำคงคาในประเทศอินเดียและแม่น้ำไนล์ในประเทศอียิปต์ แต่เมื่อพูดถึงแหล่งกำเนิดของข้าวและประวัติความเป็นมาของเขตที่ราบแห่งอารยธรรมข้าวนาดำ ก็มักจะคิดถึงประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน หรือก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน โดยเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงของเวียดนามคือหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมข้าวนาดำ ซึ่งแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงได้ถมดินตะกอนสองฟากฝั่งสร้างเป็นเขตที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งจัดสรรน้ำให้แก่ภูมิภาคนี้ด้วย"

แม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดต่างๆได้ทิ้งวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมราชธานีทังลอง โดยถึงแม้ช่วงที่ไหลผ่านกรุงฮานอยมีความยาวไม่มากนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งสายน้ำและขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเด่นชัด

"แม่น้ำห่งไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงอารยธรรมข้าวนาดำเท่านั้น หากยังหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมเวียดนาม เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งรกรากถิ่นฐานและวัฒนธรรมหมู่บ้านที่ยังคงสะท้อนให้เห็นผ่านกิจกรรมต่างๆในปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งถ้าหากเรานั่งเรือเที่ยวแม่น้ำห่ง ก็จะได้เห็นวัดวาอาราม วิหาร เขตโบรารณสถานและมรดกต่างๆ เช่น วิหารบูชาสองวีรกษัตริย์สตรีพี่น้องฮายบ่าตรึงในเขตเมลิง จังหวัดหวิงฟุกและกำแพงโก๋ลวาที่ได้รับการก่อสร้างเมื่อศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ส่วนราชธานีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือราชธานีทังลอง ซึ่งปัจจุบันคือกรุงฮานอยที่ลักษณะของเมืองหันหลังให้ภูเขา หันหน้าไปยังแม่น้ำห่งและมีแม่น้ำไหลผ่านบางช่วง โดยเฉพาะมีนิยายเกี่ยวกับกษัตริย์ลี้กงอ๋วนทรงเห็นนิมิตมังกรเหินฟ้าในขณะล่องเรือมังกรบนแม่น้ำห่ง”

ชื่อกรุงฮานอย มีความหมายว่า “เมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่าน” โดยมีแม่น้ำ 9 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำห่ง แม่น้ำด่า แม่น้ำด๋วง แม่น้ำก่าโหล่ แม่น้ำเก่า แม่น้ำโตหลีก แม่น้ำเหย แม่น้ำได๊และแม่น้ำติ๊ก ซึ่งแม่น้ำห่งได้ไหลผ่านทั้งเขตใจกลางและเขตชานเมืองกรุงฮานอย นักวิจัยเลมิงได้เผยต่อไปว่า

“แม่น้ำห่งคือแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดไหลผ่านกรุงฮานอย โดยไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงผู้คน การปลูกข้าวและการขนส่งทางน้ำเท่านั้น หากยังผูกพันกับประวัติศาสตร์และหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของราชธานีทังลองที่มีอายุนับพันปีอีกด้วย”

ร่องรอยอารยธรรมแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดงในวัฒนธรรมราชธานีทังลอง - ảnh 2งานเทศกาลโก๋ลวา (hoangthanhthanglong.vn

โบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในกรุงฮานอยส่วนใหญ่ได้รับการก่อสร้างใกล้แม่น้ำ เช่น ศาลาประจำหมู่บ้านและวิหารบูชาเทพต่างๆ  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมราชธานีทังลองอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ อารยธรรมแม่น้ำห่งยังได้สะท้อนให้เห็นผ่านบทกวี การร้องเพลง งานเทศกาลและความเลื่อมใสศรัทธาพื้นเมืองต่างๆ โดยเฉพาะช่างฝีมือจากหมู่บ้านศิลปาชีพต่างๆในทั่วประเทศได้เดินทางมาตั้งรกรากสร้างเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆในราชธานีทังลอง ซึ่งสร้างเอกลักาณ์วัฒนธรรมและได้รับการสืบทอดมาตราบเท่าทุกวันนี้ เช่น อาชีพทำเครื่องเคลือบดินเผา คุณเหงวียนถิจ่า นักศึกษามหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอยได้เผยว่า

“แม่น้ำห่งคือสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมของกรุงฮานอย ปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการผสมผสานด้านวัฒนธรรมในเวียดนาม แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ดิฉันคิดว่า คุณค่าวัฒนธรรมเหล่านี้ควรได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ในหมู่ประชาชน ชาวต่างชาติที่ทำงานและพำนักอาศัยในเวียดนามและนักท่องเที่ยวมากขึ้น”

ปัจจุบัน คุณค่าของอารยธรรมแม่น้ำห่งยังคงสะท้อนให้เห็นจากสถาปัตยกรรม หมู่บ้านศิลปาชีพ ดนตรีและความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เอกลักษณ์วัฒนธรรมของราชธานีทังลอง-ฮานอยยังคงมีพลังชีวิตที่ไม่เสื่อมคลาย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด