วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของวงการแพทย์เวียดนาม

(VOVWORLD) -วันที่ 11 มกราคมปี 2018 วารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก New England Journal of Medicine หรือ NEJM ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและมีผู้อ่านในกว่า 175 ประเทศทั่วโลกได้ลงผลการวิจัยของกลุ่มแพทย์เวียดนามเกี่ยวกับเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วแบบใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่ผลการวิจัยของเวียดนามได้ถูกตีพิมพ์บนวารสารการแพทย์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก
วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของวงการแพทย์เวียดนาม - ảnh 1 ดร. เวืองถิหงอกลานและนายแพทย์ โห่แหม่งเตื่อง (Photo Tạp chí Gia đình mới)

 

หลังการตีพิมพ์ของ NEJM ก็มีสำนักข่าว สถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ เช่น รอยเตอร์ Sydney Morning Herald และซินหัวได้ลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิจัยดังกล่าวของแพทย์เวียดนาม ซึ่งผลการวิจัยนี้ได้สร้างความหวังในการมีบุตรให้แก่ผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยากผ่านเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วแบบใหม่หรือการทำไอวีเอฟ

ตามผลการวิจัยเรื่องการทำเด็กหลอดแก้วที่ผ่าน ๆ กรณีผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ การใช้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วหรือเรียกว่าตัวอ่อนแช่เย็นมีอัตราการตั้งครรภ์และคลอดสำเร็จสูงกว่าการใช้ตัวอ่อนสด แต่บรรดาแพทย์เวียดนามตั้งข้อสงสัยว่า เทคนิคนี้สามารถใช้ได้ผลกับผู้หญิงที่ไม่มีปัญหาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือไม่เลย ทำให้นำไปสู่การวิจัยเพื่อหาคำตอบอย่างชัดเจน กลุ่มแพทย์ที่ทำการวิจัยนี้มีทั้งหมด 9 นาย คือ ดร. เวืองถิหงอกลาน แพทย์หญิงสาขาวิชาสูติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นครโฮจิมินห์ นายแพทย์ ดังกวางวิงห์ นายแพทย์ โห่แหม่งเตื่อง นายแพทย์ หวิ่งยาบ๋าว แพทย์หญิงเหงียนแค้งลิงห์ ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่จบปริญญาโทด้านการแพทย์ และนายแพทย์ ฝ่ามเยืองตว่าน จากโรงพยาบาลหมีดึ๊ก นายแพทย์ห่าเติ้นดึ๊ก จากโรงพยาบาลส่วนกลางเกิ่นเทอ ศ. Robert Norman และศ. Ben Mol จากมหาวิทยาลัย Adelaide ของออสเตรเลีย

ผลการวิจัยในผู้หญิงที่ไม่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ 782 คนปรากฎว่า การใช้ตัวอ่อนแช่เย็นมีอัตราการตั้งครรภ์และคลอดสำเร็จเท่ากับการใช้ตัวอ่อนสด นี่คือผลการวิจัยที่น่าประทับใจสำหรับวงการแพทย์โลกเพราะอาจมีส่วนช่วยพัฒนาเทคนิคในการผสมเทียม ดร. เวืองถิหงอกลาน แพทย์หญิงสาขาวิชาสูติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นครโฮจิมินห์อธิบายว่า ปัจจุบันนี้ มีเทคนิคในการทำเด็กหลอดแก้ว 2 วิธีคือการฉีดตัวอ่อนสดเข้าไปในโพรงมดลูก และการละลายตัวอ่อนสดแช่เย็นแล้วฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก ส่วนตัวอ่อนที่เหลือจะถูกแช่เย็นสำหรับใช้ในครั้งต่อไป ซึ่งสร้างความหวังให้แก่ผู้มีบุตรยากมากขึ้น            “ผลการวิจัยเปรียบเทียบอัตราการตั้งครรภ์และคลอดสำเร็จ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนในการใช้ตัวอ่อนสองรูปแบบของเราปรากฎว่า มีอัตราเท่ากัน ทั้งในการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการเกิดภาวะแทรกซ้อน”

วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของวงการแพทย์เวียดนาม - ảnh 2( Photo 24h.com.vn

นี่คือครั้งแรกที่ผลงานวิจัยทางการแพทย์ของเวียดนามถูกตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เพราะการที่ผลงานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ในแต่ละสัปดาห์ มีบทความนับพันบทจากทั่วโลกที่ส่งถึง NEJM แต่มีแค่ร้อยละ 5 เท่านั้นที่ถูกตีพิมพ์ นายแพทย์โห่แหม่งเตื่อง สมาชิกของกลุ่มแพทย์เวียดนามที่วิจัยโครงการดังกล่าวเผยว่า ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีในการทำวิจัยเรื่องนี้ โดยใช้ 2 ปีสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูล 11 เดือนสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อเขียนบทความและใช้เวลา 10 เดือนตั้งแต่เมื่อส่งบทความไปให้ทางวารสาร ผลงานของทีมก็ได้รับการตีพิมพ์ ส่วนดร. เวืองถิหงอกลาน เผยว่า ไม่มีวารสารการแพทย์ฉบับใดยากกว่า NEJM เพราะหากส่งบทความถึงวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอื่น ๆ ก็อาจต้องทำการปรับปรุงประมาณ 3 ครั้งแต่สำหรับ NEJM ทางกลุ่มต้องแก้ไขบทความถึง 17 ครั้ง โดยกลุ่มได้ส่งบทความถึง NEJM เมื่อเดือนมีนาคมปี 2017 หลังจากนั้น 2 เดือนก็ได้รับคำวิจารณ์และความคิดเห็นในหลายประเด็นมากจนต้องใช้กระดาษขนาด A4 ถึง 20 หน้าและต้องใช้เวลาถึง 2 เดือนเพื่อตอบคำถามทุกข้อ เมื่อวารสารเห็นชอบแล้วก็ต้องทำงานกับบรรณาธิการ 3 ครั้ง ออกฉบับร่างสองครั้งถึงจะได้รับการตีพิมพ์ ส่วนศัพท์วิชาการทุกคำต้องเขียนอย่างไรให้แพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในสาขาวิชาสูติศาสตร์และคนธรรมดาสามารถเข้าใจได้ เวลา 5.00 นาฬิกาของวันที่ 11 มกราคม บทความดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่บนวารสาร NEJM ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ผู้มีบุตรยากในทั่วโลก ดร. เวืองถิหงอกลานเผยว่า            “สิ่งที่เรายินดีมากที่สุดไม่ใช่การได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการแพทย์โลก แต่เรายินดีที่ได้ค้นพบแนวทางวิธีการรักษาที่มีอัตราความสำเร็จสูงและภาวะแทรกซ้อนต่ำให้แก่ผู้มีบุตรยาก”

การที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก NEJM ถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับวงการแพทย์เวียดนาม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด