ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เก-เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเขมรในภาคใต้

(VOVWORLD) - ชนเผ่าเขมรในภาคใต้ได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมและศิลปะที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆในระหว่างการผลิตและการดำเนินชีวิต โดยศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สะท้อนศิลปะการแสดงละครเวทีแบบดั้งเดิมของเวียดนามและเป็นหนึ่งในรูปแบบการแสดงบนเวทีที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าเขมร ซึ่งได้รับการสืบทอดและพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เก-เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเขมรในภาคใต้ - ảnh 1การแสดงบทละคร "นางเซดา" ของคณะศิลปะอยู่เกจังหวัดซอกจังในงานมหกรรมการแสดงละครเพลงอยู่เกของชนเผ่าเขมรภาคใต้ครั้งที่ 1ปี 2013 (VNA)

 ตามความเห็นของนักวิจัยด้านวัฒนธรรมพื้นเมืองหลายคน ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผู้ให้กำเนิดและแหล่งกำเนิดของศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกของชนเผ่าเขมรในภาคใต้คือในจังหวัดจ่าวิง ซอกจังและเกียนยาง แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่า ศิลปะแขนงนี้มีจุดเริ่มต้นจากการตอบสนองความต้องการด้านศิลปะของชนเผ่าเขมรในภาคใต้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยบทละครมีเนื้อหาที่อิงตามนิทานและตำนานของชนเผ่าเขมร รวมทั้งบทละครก๋ายเลืองและนิทานอื่นๆ ตลอดจนนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรม สังคม การปฏิวัติ การสดุดีผู้ใช้แรงงาน เรียกร้องให้เสริมสร้างความสามัคคีชนในชาติเพื่อต่อต้านศัตรูผู้รุกราน เช่น บทละครเรื่อง “ลิงทน” “ซากกิงนี” “แถกแซงต่อสู้กับงูยักษ์” “เติ๋มก๋าม” เป็นต้น สำหรับตัวละครแบ่งเป็นคนดีและคนร้าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องการทำความดีและประณามในสิ่งที่คนชั่วกระทำบนเจตนารมณ์ความดีชนะความชั่ว ควรทำความดี อย่าทำความชั่ว

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกมีการผสมผสานระหว่างการร้องเพลง บทสนทนา การแสดงละครพร้อมดนตรีประกอบที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีพื้นเมืองต่างๆ โดยเฉพาะวงดนตรีหงูเอิมที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 อย่าง ขลุ่ยและซออู้ เป็นต้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่สื่อถึงความหมายอันลึกซึ้งเพื่อให้การศึกษาแก่ทุกคน โดยชนเผ่าเขมรได้เรียนรู้ศิลปะที่ดีเลิศของชนเผ่าอื่นและนำไปสร้างสรรค์และปรับปรุงให้เป็นการแสดงละครเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตน ศิลปินด่าวจวง อดีตหัวหน้าคณะศิลปะชนเผ่าเขมรจังหวัดเกียนยางได้เผยว่า“ในการแสดงละครเพลงอยู่เกนั้น มีการรักษาท่ารำและการจัดองค์ประกอบการแสดงละครเวทีแบบดั้งเดิมเป็นอย่างดีเพราะถ้าหากทำการปรับปรุงตามสไตล์ที่ทันสมัยก็จะดูไม่เหมาะสม ดังนั้นมีแต่การรักษาการแสดงแบบดั้งเดิมเท่านั้นถึงจะช่วยให้ศิลปะแขนงนี้สามารถคงอยู่และพัฒนาได้”

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกคืออาหารทางใจที่ขาดไม่ได้ของชนเผ่าเขมรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีการจัดการแสดงละครเพลงอยู่เกตามวัดเขมรในงานเทศกาลต่างๆและกิจกรรมวัฒนธรรมของชนเผ่าเขมร ซึ่งดึงดูดความสนใจของประชาชนชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆและนักท่องเที่ยวจำนวนมากและแสดงให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของชาวบ้านเท่านั้น หากยังสร้างความเชื่อมโยงในชุมชนในงานเทศกาลต่างๆอีกด้วย

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เก-เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเขมรในภาคใต้ - ảnh 2การแสดงในงานมหกรรมละครเพลงอยู่เกในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 1 ปี 2019 (VNA) 

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกได้เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 100ปีก่อน โดยมีบทบาทที่สำคัญในชีวิตทางจิตใจของชนเผ่าเขมรในภาคใต้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มโลกาภิวัตน์ กิจกรรมบันเทิงสมัยใหม่และเทคโนโลยีแสง สี เสียงสำหรับการแสดงบนเวทีที่พัฒนาทำให้ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกประสบกับอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ บรรดาศิลปินอาวุโสนับวันล้มหายตายจากในขณะที่ยังไม่มีการฝึกคนรุ่นใหม่ให้มาสานต่ออย่างเป็นทางการ การเขียนบทละครและการกำกับการแสดงบทละครใหม่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ ด.นักดนตรีเซินหงอกหว่าง นายกสมาคมนักดนตรีเวียดนามสาขาจังหวัดซอกจังได้เผยว่า นอกจากนโยบายอนุรักษ์มรดกของภาครัฐแล้ว ท้องถิ่นต่างๆควรให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อเขียนบทละครและจัดแสดงละครเพลงอยู่เก“สำหรับคณะศิลปะที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐ ต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ประกอบการแสดง อีกทั้งต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ศิลปินอย่างเหมาะสมเพื่อให้กำลังใจพวกเขาและต้องผลักดันการอบรมเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป”

ศิลปะการแสดงละครเพลงอยู่เกได้รับการรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมระดับชาติประเภทการแสดงพื้นเมืองเมื่อปี 2014 และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชนเผ่าเขมรและประเทศเวียดนาม ดังนั้นจึงต้องได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมเพื่อยกระดับสถานะ ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดจ่าวิงและจังหวัดซอกจังมีแผนแนะนำศิลปะแขนงนี้ให้แก่นักท่องเที่ยวและส่งเสริมให้การแสดงละครเพลงอยู่เกเป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด