เหตุการณ์เด่นด้านวัฒนธรรมของเวียดนามในปี 2017
Ngoc Anh - VOV5 -  
(VOVWORLD) -ปี 2017 ศิลปะการแสดงพื้นเมือง “บ่ายจ่อย” ในภาคกลางเวียดนามได้รับการรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโก
ศิลปะการแสดงพื้นเมือง “บ่ายจ่อย” (Photo dantri.com.vn) |
นี่คือกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อความบันเทิงของชุมชนที่มีการผสมระหว่างดนตรี บทกลอน การแสดงและจิตรกรรม ส่วนศิลปะการร้องเพลงซวานก็ได้รับการย้ายจากบัญชีมรดกที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนไปอยู่ในบัญชีมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติเนื่องจากเป็นศิลปะพื้นเมืองที่มีการเชื่อมโยงกับพิธีสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งเป็นความเลื่อมไสบูชาบรรพบุรุษของคนเวียดนาม ศ.หว่างเจือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนามเผยว่า “ศิลปะการแสดงพื้นเมือง “บ่ายจ่อย” มาจากจังหวัดบิ่งดิ่งห์ ถือเป็นอาหารทางจิตใจของประชาชนในภาคกลางเวียดนาม ส่วนทางการจังหวัดฟู้เถาะสามารถอนุรักษ์ศิลปะการร้องเพลงซวานได้อย่างสมบูรณ์ เรากำลังอำนวยความสะดวกให้แก่การแสดงศิลปะสองรายการนี้ให้คงอยู่และพัฒนาตลอดไปโดยเฉพาะการเผยแพร่ในหมู่เยาวชน”
ปี 2017 นับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวเวียดนามได้เลือกชาวต่างชาติเป็นทูตการท่องเที่ยวของเวียดนามวาระปี 2017-2020 นั่นคือนาย Jordan Vogt- Robert ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ Kong: Skull Island” หรือ “คอง มหาภัยเกาะกะโหลก” ซึ่งถ่ายทำในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของเวียดนาม
ที่น่าสนใจในปี 2017 คือการจัดแสดงสมบัติของชาติ 18 รายการ ซึ่งในนั้นมีสมบัติอันล้ำค่าต่างๆ เช่น กลองมโหระทึกหงอกหลูยุควัฒนธรรมดงเซินและไหด่าวถิง ที่มีอายุประมาณ 2,500 ปี งานเขียน “บันทึกในเรือนจำ” หนังสือ “เดื่องแก๊กเหมง” และร่างคำเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมการลุกขึ้นสู้ของประธานโฮจิมินห์ เป็นต้น
ไหด่าวถิง |
หลังจากทำการวิจัยและฟื้นฟูมาเป็นเวลา 3 ปี นักวิจัยดนตรีบุ่ยจ่องเหี่ยน จากสถาบันวัฒนธรรมศิลปะเวียดนามและทีมงานได้ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูการร้องเพลงทำนอง “เกื๋อดิ่ง” หรือการร้องเพลงในพิธีเซ่นไหว้บูชาตามแบบโบราณซึ่งเป็นต้นแบบของการร้องเพลงกาจู่ที่สูญหายไปเป็นเวลา 60 ปีได้อย่างสมบูรณ์ การร้องเพลง “กาจู่” หรือที่เรียกว่า “อ๋าด่าว” และ “โกเด่า” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเวียดนาม ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างการขับกวีและดนตรีอย่างกลมกลืน ส่วนโครงการ “อนุรักษ์กาจู่ในกรุงฮานอยตามวิธีการเข้าถึงใหม่” ของคุณบุ่ยจ่องเหี่ยนและทีมงานก็ได้ทำการเรียบเรียงข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับ “กาจู่” ในตลอด 1 ศตวรรษเพื่อสรุปเป็นทฤษฎีขั้นพื้นฐานเพื่อมีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนา “กาจู่” ในสมัยใหม่ นักวิจัยบุ่ยจ่องเหี่ยนกล่าวว่า “ผมสามารถค้นพบการบันทึกเสียงของนักร้อง “กาจู่” ที่มีชื่อเสียงในช่วงปี 1920-1930 แล้วสรุปทฤษฎีของการร้องเพลงกาจู่ตามมาตรฐานของการร้องเพลง “เกื๋อดิ่ง” โบราณเพื่อทำเป็นแผนผังและโน๊ตดนตรีช่วยให้นักร้องรุ่นใหม่ร้องตาม ส่วนดนตรีในการร้องเพลง “กาจู่” เป็นดนตรีที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งการเล่นยากมากและต้องมีความเข้าใจแผนผังก่อนที่จะเล่นประกอบการร้องเพลง “กาจู่””
ทัวร์ชมโรงละครใหญ่ฮานอยเสมือนจริงคืออีกกิจกรรมที่น่าสนใจในปี 2017 โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส แม้มีอายุกว่า 100 ปีแต่โรงละครใหญ่ฮานอยยังคงเป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในเวียดนามและอินโดจีน กลายเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกรุงฮานอย ซึ่งการชมผ่านระบบเสมือนจริงจะใช้เวลา 15 นาทีโดยจะแนะนำจุดที่น่าสนใจต่างๆของโรงละครใหญ่ฮานอยประกอบเพลงฝรั่งเศสและเสียงบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเวียดนาม
กิจกรรมสุดท้ายของเหตุการณ์เด่นทางวัฒนธรรมของเวียดนามในปี 2017 คืองานมหกรรมการฟ้อนรำนานาชาติที่จังหวัดนิงบิ่งห์เมื่อเดือนกันยายน โดยมีคณะศิลปิน 24 คณะจาก15 ประเทศเข้าร่วม โดยคณะศิลปินของเวียดนามได้รับรางวัลเกรดเอ 4 รางวัลจากทั้งหมด 10 รางวัล.
Ngoc Anh - VOV5