ครบรอบ 3 ปีที่ WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่: ความเลวร้ายได้ผ่านพ้นไป
Huyen -  
(VOVWORLD) - วันที่ 11 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 3 ปีที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่หรือ Pandemic แม้ในปัจจุบันชีวิตของประชาชนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ องค์การอนามัยโลกยังคงคงประกาศเตือนต่อโรคระบาดนี้ในระดับสูงสุดทั่วโลกเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อมนุษยชาติอีกต่อไป
นาย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ๋ของ WHO (Reuters)
|
การระบาดใหญ่ของโควิด -19 ที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 ณ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ในภาคกลางของประเทศจีน นับแต่อดีต โลกไม่เคยเผชิญเชื้อไวรัสที่แพร่เชื้อได้เร็วเท่ากับไวรัส SARS-CoV-2 จนทำให้เมื่อวันที่ 11 มีนาคมปี 2020 องค์การอนามัยโลก ต้องประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ Pandemic
ในช่วงนั้นการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในกว่า 120 ประเทศและดินแดน โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 121,000 รายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,300 ราย แต่ต่อจากนั้นเพียง 1 ปี จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1,500 เท่า อยู่ที่กว่า 181.7 ล้านราย และจำนวนผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นกว่า 630 เท่า อยู่ที่กว่า 2.6 ล้านราย และภายในเวลา 3 ปี ได้ตรวจพบการระบาดในเกือบ 221 ประเทศและดินแดน โดยมีผู้ติดเชื้อ 642 ล้านรายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 6.6 ล้านราย
ผลกระทบที่รุนแรง
นับตั้งแต่ที่ WHO ประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ก็ได้มีการตรวจพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้มีการกลายพันธุ์และอันตรายมากขึ้น อาทิ สายพันธุ์ Alpha, Beta, Gamma, Delta และ Omicron และอีกหลายสิบสายพันธุ์ โดยเชื้อที่กลายพันธุ์สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายและลดประสิทธิภาพของวัคซีนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้โลกได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากความเสียหายด้านชีวิตแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การหยุดชะงักของโลจิสติกส์ การขาดแคลนเชื้อเพลิงและราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ เมื่อปี 2020 สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความเสียหายอย่างหนักของเศรษฐกิจโลก โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของโลกลดลงร้อยละ 5.2 เนื่องจากมาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด หนี้สาธารณะในประเทศที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด อยู่ที่ 8 แสน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โควิด-19 ยังทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศกำลังพัฒนา
ผู้ป่วยรอลงทะเบียนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2020 (THX) |
ทั่วโลกพยายามควบคุมการแพร่ระบาด
เมื่อเทียบกับปีแรกที่องค์การอนามัยโลกประกาศโรคระบาด เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2021 ผลที่ร้ายแรงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ได้ทำให้หลายประเทศต้องเปลี่ยนวิธีการต่อสู้กับการแพร่ระบาด โดยเฉพาะ การเปิดตัววัคซีนและยาที่มีประสิทธิภาพจำนวนมากได้สร้างหัวเลี้ยวหัวต่อในการต่อสู้กับโรคระบาด ควบคู่กับโครงการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตในโลกได้แปรผกผันตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความมีประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการต่อสู้กับโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้จากความพยายามในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและการยึดตามลัทธิพหุภาคีในการรับมือการแพร่ระบาด ได้มีการจัดตั้งกลไกใหม่มากมายเพื่อช่วยแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายพันล้านโดสไปยังประเทศยากจน แผนการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด รวมถึงข้อตกลงเพื่อค้ำประกันแหล่งเงินทุนและความคล่องตัวสำหรับองค์การอนามัยโลกก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างเช่นกัน ความสำเร็จเหล่านี้ได้เสริมสร้างความมุ่งมั่นของประเทศต่างๆ ในการถือ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ใช่โรคระบาดอีกต่อไป ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนไปสู่ “การอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย” เพื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศอีกครั้งและนำชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปี 2022 ถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูของเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาด โดยยอดมูลค่าของเศรษฐกิจโลกได้สูงกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ยังเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 และการค้าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ครบ 3 ปีหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีระเทศใดที่สามารถรับมือการระบาดระดับโลกได้เพียงลำพัง ซึ่งหมายความว่า การสร้างความสามัคคีระดับโลกยังเป็นการเตรียมการเพื่อให้ทุกประเทศมีโอกาสที่จะต่อสู้และป้องกันการแพร่ระบาด ตามรายงานของ WHO การยุติระบาดของโควิด-19 โดยสิ้นเชิงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือและความพยายามมากขึ้นคือแนวทางที่จะช่วยยุติการแพร่ระบาดและ “จบประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของมนุษยชาติอย่างถาวร”.
Huyen