ความท้าทายในกระบวนการเจรจา Brexit

(VOVWORLD) -อังกฤษและสหภาพยุโรปหรืออียูได้เริ่มกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ตามเวลาที่กำหนด หลังเป็นสมาชิกมากว่า 4 ทศวรรษ การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของอังกฤษเท่านั้นหากยังส่งผลกระทบถึงโครงสร้างทางการเมืองของฝ่ายตะวันตกซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ
ความท้าทายในกระบวนการเจรจา Brexit - ảnh 1 นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ (Photo Daily Mirror)

ตามแผนที่วางไว้ กระบวนการเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียูจะมีขึ้นเป็นเวลา 2 ปีโดยจะหารือเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อนที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การก่อตั้งของอียู

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เคยวางแผน “ Brexit” ที่ “ตายตัว” ซึ่งประกอบด้วยการออกจากตลาดร่วมยุโรป บรรลุข้อตกลงศุลกากรฉบับใหม่และจำกัดผู้อพยพจากยุโรปแต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนทำให้ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยความท้าทายในปัจจุบันของนาง เทเรซา เมย์ คือ ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Brexit ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาในสภาวการณ์ที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเธอไม่ได้เสียงข้างมาก

1 ปีหลังจากที่ประเทศอังกฤษตัดสินใจออกจากอียู

 ถ้ามองย้อนกลับไปใน 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่อังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปจะเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยในการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดเมื่อเร็วๆนี้ การที่พรรคอนุรักษ์นิยมของนาง เทเรซา เมย์ เสียที่นั่งจนไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษเกิดความผันผวนและสร้างอุปสรรคต่อกระบวนการเจรจา Brexit ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศได้เอง รวมทั้งกระบวนการเจรจา Brexit กับอียู เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นและถูกกดดันจากพรรคการเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ นาง เทเรซา เมย์ ยังต้องรับมือกับความยากลำบากในการเจรจากับอียูเนื่องจากสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนสำคัญบางท่านมีความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม ดังนั้น ปัจจุบันนี้สถานะของอังกฤษในการเจรจาก็ไม่มีความเข้มแข็งเหมือน 1 ปีก่อน

ทางด้านเศรษฐกิจของอังกฤษนั้นก็มีการชะลอตัวในช่วงต้นปีนี้เนื่องจากเงินปอนด์อ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งเพิ่มความท้าทายที่นาง เทเรซา เมย์ ต้องรับมือในกระบวนการ Brexit ในขณะเดียวกัน ความไว้วางใจของประชาชนในสหภาพยุโรปนับวันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีการขยายตัวที่น่ายินดี ซึ่งนักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความเสี่ยงต่อกระบวนการแยกตัวของอังกฤษพร้อมคำถามใหญ่เกี่ยวกับจุดยืนของอังกฤษ ในการหยั่งเสียงประชามติ นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ย้ำอยู่เสมอว่า จะปฎิบัติกระบวนการ Brexit ที่ “ตายตัว” ซึ่งหมายความว่า จะไม่เข้าร่วมตลาดร่วมและปรับลดการรับผู้อพยพ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการ Brexit จะดำเนินไปอย่างคล่องตัวเมื่ออังกฤษยังคงเข้าร่วมตลาดร่วมยุโรป

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งในการเจรจา Brexit คือ ปัญหาผู้อพยพ โดยแผนการหลัง Brexit ของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ที่มีเป้าหมายลดจำนวนผู้อพยพจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษเพราะว่าไม่เพียงแต่ทำให้อังกฤษเสียแหล่งแรงงานที่สำคัญเท่านั้นหากยังทำให้อังกฤษขาดแคลนแรงงานในด้านหลักของประเทศอีกด้วย

ความท้าทายในกระบวนการเจรจา Brexit - ảnh 2

ต้องมีขั้นตอนเพื่อแก้ไขอุปสรรค

หลังการเจรจาเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่า ยังไม่มีผลงานอย่างชัดเจน แต่ในเวลาข้างหน้า ทั้งสองฝ่ายจะพบปะต่อไปเพื่อแก้ไขความแตกต่างโดยฝ่ายอียูมีความประสงค์ที่จะมีกรอบเวลาที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการ Brexit ของอังกฤษแต่สิ่งนี้ดูเหมือนว่ายังไม่ลงเอยกันได้เพราะหลังการเจรจารอบแรก นักวางกฎหมาย 50 คนของพรรคแรงงานได้ลงนามในจดหมายที่เรียกร้องให้อังกฤษคงสถานะในตลาดร่วมยุโรปต่อไป แม้ทัศนะนี้ถูกประท้วงจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนแต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกจำนวนหนึ่งของพรรคนี้ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของอังกฤษต่อ Brexit ในเวลาข้างหน้า

ปีแรกหลังจากที่อังกฤษลงคะแนนออกจากอียูเป็นปีที่เต็มไปด้วยมรสุม การผันผวนทางการเมือง ความไม่สงบของประเทศเนื่องจากเหตุก่อการร้ายและการโจมตีต่อต้านชาวต่างชาติได้สร้างความท้าทายต่อประเทศอังกฤษ ตามกำหนดการ อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2019 ซึ่งจนกว่าจะถึงเวลานั้นยังมีหลายอย่างที่อังกฤษต้องทำและถึงเวลาที่อังกฤษต้องสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อนำประเทศฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงที่ยากลำบากนี้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด