ความวุ่นวายทางการเมืองในอิตาลีและความสนใจของสหภาพยุโรป

(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ประธานาธิบดีอิตาลี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา ได้ประกาศรับหนังสือลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี และตัดสินใจยุบรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้แก่การเลือกตั้ง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดและน่าสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอิตาลีตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดาสหภาพยุโรปหรืออียู
ความวุ่นวายทางการเมืองในอิตาลีและความสนใจของสหภาพยุโรป - ảnh 1นายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี (AFP)

 

ในแถลงการณ์ยุบรัฐสภา ประธานาธิบดี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา ได้ย้ำว่า ในสภาวการณ์ที่ขาดการสนับสนุนจากรัฐสภาต่อรัฐบาล การยุบรัฐสภาคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นทางออกสุดท้าย นอกจากนี้ ตามประกาศดังกล่าว การจัดการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้าจะดำเนินการภายในเวลา 70 วันตามกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ การเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ไม่เพียงแต่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในอิตาลีมีความตึงเครียดเท่านั้น หากยังสร้างความกังวลต่อยุโรป อีกด้วย

ความวุ่นวายทางการเมืองในอิตาลี

สถานการณ์ทางการเมืองในอิตาลีมีควมตึงเครียดมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี จูเซปเป้ คอนเต หัวหน้าพรรคขบวนการ 5 ดาวหรือ M5S ขู่ว่า จะถอนพรรค M5S ออกจากรัฐบาลผสมที่นำโดยนายกรัฐมนตรี มาริโอ้ ดรากี โดย M5S เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดซึ่งครองที่นั่งกว่าร้อยละ 30 ในวุฒิสภาและสภาล่างอิตาลีหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2018 ซึ่งพรรคนี้ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ร่วมกับพรรคสันนิบาต พรรค Forza Italia พรรคประชาธิปไตย พรรค Italia Viva และพรรค Article One ต่อจากคำขู่ของพรรค M5S หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยและพรรคสันนิบาตก็ออกมาขู่ว่า จะถอนตัวออกจากรัฐบาลผสมจนนำไปสู่การที่นายกรัฐมนตรี ดรากี ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งครั้งแรกต่อประธานาธิบดี มัตตาเรลลา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม แต่ถูกปฏิเสธ โดยประธานาธิบดี มัตตาเรลลา ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี ดรากี หารือกับรัฐสภาเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตทางการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ยุติลงหลังจากที่พรรค M5S พรรรคประชาธิปไตยและพรรค Forza Italia ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมการลงคะแนนไว้วางใจเพื่อยุติความแตกแยกและฟื้นฟูความสัมพันธ์ หลังจากนั้นหนึ่งวันคือวันที่ 21 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรี ดรากี ได้ยื่นใบลาออกครั้งที่สองต่อประธานาธิบดี มัตตาเรลลา และได้รับการอนุมัติ ถึงกระนั้น  นาย ดรากี ก็ยังถูกขอให้ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

นายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี อายุ 74 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ซึ่งได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองอิตาลีว่าเป็น "ทางเลือกที่ปลอดภัย" เพื่อนำประเทศดำเนินกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ดังนั้น การล่มสลายของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ดรากี ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงไม่เพียงแต่ต่อภาคการเมืองเท่านั้น หากยังรวมถึงเศรษฐกิจอิตาลีอีกด้วย โดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจอิตาลีกำลังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการในหลายสิบปีที่ผ่านมา นาย เรนาโต บรูเนตตา รัฐมนตรีของกระทรวงกิจการสาธารณะยืนยันว่า อิตาลีกำลังอยู่ในช่วงที่จำเป็นต้องมีนาย ดรากี ในการบริหารประเทศ ในขณะที่ประธานาธิบดี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา ก็เตือนว่า อิตาลีกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ร้ายแรง

ความวุ่นวายทางการเมืองในอิตาลีและความสนใจของสหภาพยุโรป - ảnh 2นายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี กับประธานาธิบดีอิตาลี เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา (AP)

ความกังวลของสหภาพยุโรป

ไม่เพียงแต่ชาวอิตาลีเท่านั้น หากบรรดาผู้นำของสหภาพยุโรปยังแสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์การเมืองล่าสุดในอิตาลี โดยฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดในสหภาพยุโรปได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งหลังจากนายกรัฐมนตรีอิตาลี มาริโอ ดรากี ยื่นใบลาออกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฝรั่งเศส ลอเรนซ์ บูน ได้เตือนว่า อิตาลีได้ตกเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รัฐมนตรี ลอเรนซ์ บูน ยืนยันว่า "นายกรัฐมนตรี ดรากี เป็นนักการเมืองยอดเยี่ยม เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญสำหรับฝรั่งเศสและเป็นเสาหลักของยุโรป"

ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ มีหลายสาเหตุที่ทำให้บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนทางการเมืองในอิตาลีในปัจจุบัน โดยประการแรกคือ หลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือBrexit อิตาลีซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรปถือเป็นเสาหลักใหม่ที่สามารถเข้าทดแทนได้ร่วมกับเยอรมนีและฝรั่งเศสเพื่อนำพาสหภาพยุโรปฟันฝ่าความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ประการที่ 2 คือ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบแบบโดมิโน ซึ่งเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้วิเคราะห์ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษซึ่งเป็นอดีตสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ยังคงมีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปก็กำลังอยู่ในสภาวะตึงเครียดภายหลังการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในของหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังเกิดความแตกแยก และได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากจากปัญหาร้อนระอุต่างๆ เช่น วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ราคาก๊าซธรรมชาติ อาหารและภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น

ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือเป็นโจทย์และอุปสรรคที่สหภาพยุโรปต้องพยายามมากขึ้นเพื่อฟันฝ่าไปให้ได้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด