(VOVWORLD) - ฟอรั่มระดับโลกด้านอาหารและการเกษตรหรือ GFFA ประจำปี 2024 ได้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยเน้นหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อสร้างระบบอาหารระดับโลกเพื่ออนาคต โดยในเฉพาะหน้าจะให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการะดมแหล่งพลังเพื่อขจัดความหิวโหยในโลกอย่างสิ้นเชิง
(AFP) |
ฟอรั่มระดับโลกด้านอาหารและการเกษตรหรือ GFFA ซึ่งจัดโดยกระทรวงอาหารและการเกษตรของเยอรมนีเป็นความคิดริเริ่มเพื่อสร้างเวทีหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านอาหารและการเกษตรในโลก ในปีนี้ ฟอรั่ม GFFA ครั้งที่ 16 มีหัวข้อ “ระบบอาหารเพื่ออนาคต ร่วมแรงร่วมใจเพื่อโลกที่ไม่มีความหิวโหย”
เร่งบรรลุเป้าหมาย SDGs
ในข้อความที่เผยแพร่ก่อนการประชุมปีนี้ คณะกรรมการจัดงานได้เผยว่า โลกมีเวลาเหลือเพียง 7 ปีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งในนั้น หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ SDGs คือการขจัดความหิวโหยภายในปี 2030 แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ความสามารถในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้กำลังถูกคุกคาม ตามข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO และโครงการอาหารโลกหรือ WFP ปัจจุบัน 1 ใน 10 ของประชากรโลกกำลังทุกข์ทรมานเนื่องจากความหิวโหย ผู้คนกว่า 2 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ ความท้าทายต่อความพยายามในการขจัดความหิวโหยในโลกกำลังมีความซับซ้อนมากขึ้น ตั้งแต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและโรคระบาด ไปจนถึงสงครามและการปะทะต่างๆเมื่อเร็วๆนี้ นาง รีนา เกลานี ผู้ประสานงานการป้องกันและรับมือภาวะอดอยากของสหประชาชาติแสดงความเห็นว่า
“การปะทะที่ใช้ความรุนแรงกำลังทำลายระบบอาหาร ทำลายวิถีชีวิตและทำให้ประชาชนต้องละทิ้งบ้านเรือน และหลายคนตกเข้าสู่ภาวะความอดอยากอย่างรุนแรง บางครั้ง ผลกระทบเหล่านี้มาจากสงคราม แต่เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจและผิดกฎหมาย ด้วยการใช้ความอดอยากเป็นยุทธวิธีในการทำสงคราม”
ในสภาวการณ์ดังกล่าว การประชุม GFFA ปีนี้ ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งเป้าการส่งเสริมการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ มุ่งสู่อนาคตและปลุกเร้าจิตสำนึกของผู้วางนโยบายในประเทศต่างๆ เกี่ยวกับความเร่งด่วนในการส่งเสริมการเร่งปฏิบัติตาม SDGs ฟอรั่มในปีนี้เน้นหารือถึง 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนและการเข้าถึงอาหารอย่างอิสระ การสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน การลดการสูญเสียอาหารให้เหลือน้อยที่สุดและการเสริมสร้างกลุ่มด้อยโอกาส ผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารสถานประกอบการและสมาชิกภาคประชาสังคมประมาณ 2,000 คนให้ได้เข้าร่วมการอภิปรายและการเชื่อมโยง
ในกรอบของฟอรั่ม ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงฟอรั่มการสนทนาระดับสูง 3 นัดและการสนทนาระดับผู้เชี่ยวชาญ 16 นัด จุดเด่นทางการเมืองของ GFFA คือเป็นการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรอย่างไม่เป็นทางการที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจะจัดขึ้นในวันสุดท้ายของการประชุมคือวันที่ 20 มกราคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรประมาณ 70 คนจากทั่วโลกจะอนุมัติแถลงการณ์ร่วมทางการเมือง ผู้แทนระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศกว่า 10 องค์กร เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือFAO องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD องค์การการค้าโลกหรือ WTO และธนาคารโลกหรือ WB จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ชาวนาขับรถแทรกเตอร์ปิดทางหลวงใกล้เมือง Rijssen ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อประท้วงนโยบายลดไนโตรเจนโดยปิดฟาร์ม 3,000 แห่ง (Getty) |
การเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเทศเจ้าภาพเยอรมนี การประชุม GFFA ปีนี้มีขึ้นประจวบกับช่วงเวลาที่ปัญหาการเกษตรกำลังกลายเป็นหนึ่งในความกังวลหลักของรัฐบาลของเยอรมนี โดยเกษตรกรเยอรมันหลายหมื่นคนประท้วงและปิดถนนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในเมืองหลวงเบอร์ลินและสถานที่อื่น ๆ การประท้วงเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องให้อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงต่อไป และได้บานปลายไปยังด้านอื่นๆ รวมทั้ง ความไม่พอใจต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ นับวันมีเกษตรกรในประเทศยุโรปมากขึ้นที่ประท้วงนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ยุโรปปฏิบัติ โดยอ้างว่า นโยบายเหล่านี้ใช้งบประมาณมากเกินไปและส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคการเกษตร
ก่อนเกิดการประท้วงของเกษตรกรเยอรมัน เกษตรกรเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปนและไอร์แลนด์ต่างจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อประท้วงนโยบายต่างๆ เช่น เรียกร้องให้ปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำกัดการใช้น้ำจากแม่น้ำเพื่อการชลประทานและห้ามการใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิด ตามรายงานของ FAO ความท้าทายที่เกิดขึ้นในการประนีประนอมระหว่างการพัฒนาการเกษตรกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นนับวันเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าว นาย Kaveh Zahedi ผู้อำนวยการสำนักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมของ FAO แสดงความเห็นว่า
“ฟาร์มเกษตรไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ผลิตอาหารเท่านั้น หากยังสามารถกลายเป็นสถานที่ที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย พลังงานดังกล่าวจะถูกใช้ในฟาร์ม โรงเรือน การสูบน้ำ ระบบชลประทานหรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโซลูชั่นการเกษตรอัจฉริยะ และเป็นสิ่งที่ FAO นำไปปฏิบัติร่วมกับประเทศต่างๆ”
ตามรายงานของ FAO ระบบการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกของโลกในแต่ละปี ดังนั้น ความต้องการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการผลิตแห่งสีเขียวและยั่งยืนจึงมีความเร่งด่วนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ยังเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เป็นจริงว่า ภายในปี 2050 พื้นที่การเกษตรอย่างน้อยร้อยละ 10 ของโลกในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ในการประชุม GFFA ปีนี้ FAO ส่งเสริมโครงการความร่วมมือระหว่าง FAO กับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกหรือ GEF เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ พัฒนาระบบอาหารเกษตรที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน FAO กำลังปฏิบัติโครงการนี้กับกว่า 120 ประเทศ ด้วยแหล่งเงินทุนกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 500 ล้านตัน และบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร 100 ล้านเฮกตาร์ได้อย่างยั่งยืน.