รัสเซียถอนตัวออกจากกลไกการตรวจสอบตามสนธิสัญญาลดอาวุธโจมตีทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่กับสหรัฐ

(VOVWORLD) - รัสเซียได้ประกาศถอนตัวจากกิจกรรมการตรวจสอบที่ถูกระบุในสนธิสัญญาลดอาวุธโจมตีทางยุทธศาสตร์หรือ START เป็นการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีความเที่ยงธรรมในการบังคับใช้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การขยายระยะเวลาการปฏิบัติสนธิสัญญาลดอาวุธโจมตีทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่หรือ New START มีความยากลำบากมากขึ้นและส่งผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงของโลก
รัสเซียถอนตัวออกจากกลไกการตรวจสอบตามสนธิสัญญาลดอาวุธโจมตีทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่กับสหรัฐ - ảnh 1รถยิงขีปนาวุธของรัสเซีย (Getty Images)

 

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศว่า รัสเซียได้แจ้งให้สหรัฐทราบอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางการทูตเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว และย้ำว่า มอสโคว์ต้องปฏิบัติเช่นนี้เนื่องจากวอชิงตันต้องการฟื้นฟูกิจกรรมการตรวจสอบใหม่โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบันที่สร้างความได้เปรียบให้แก่สหรัฐเพียงฝ่ายเดียว

การเจรจาข้อตกลง New START ยังไม่มีความคืบหน้า

ความไม่เที่ยงธรรมที่รัสเซียกล่าวถึงนั้นมาจากการที่ผู้สังเกตการณ์ของรัสเซียไม่สามารถผ่านดินแดนยุโรปได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านวีซ่าและการห้ามเครื่องบินของรัสเซีย โดยอ้างข้อกำหนดของสนธิสัญญาเกี่ยวกับ "ข้อยกเว้น" รัสเซียประกาศว่า การคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตกได้ขัดขวางผู้สังเกตการณ์ของรัสเซียในการปฏิบัติหน้าที่ของตนในดินแดนของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้สหรัฐมีความได้เปรียบเพียงฝ่ายเดียว ตามคำประกาศของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กิจกรรมการตรวจสอบจะได้รับการฟื้นฟูก็ต่อเมื่อหลักการของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันได้รับการฟื้นฟู มอสโคว์แสดงความเห็นว่า "การคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อรัสเซีย" ของสหรัฐและพันธมิตร เช่น ข้อจำกัดด้านวีซ่าสำหรับผู้สังเกตุการณ์ของรัสเซียและการห้ามเครื่องบินรัสเซียบินผ่านน่านฟ้าสหรัฐและสหภาพยุโรปได้ทำให้รัสเซียไม่สามารถทำการตรวจสอบในประเทศสหรัฐตามสนธิสัญญาฯได้

ก่อนหน้านั้น รองประธานสภาความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ดมีตรี เมดเวเดฟ ได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐในการเจรจาข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับใหม่เพื่อใช้แทนสนธิสัญญา  New START เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ในแถลงการณ์ก่อนเปิดการประชุมประเทศที่เข้าร่วมสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนิวยอร์ค ประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ยืนยันว่า วอชิงตันพร้อมหารือกับรัสเซียเกี่ยวกับข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับใหม่เพื่อใช้แทนสนธิสัญญา New START และเรียกร้องให้มอสโคว์ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึง "ความพร้อมที่จะร่วมมือ"

ผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ

สนธิสัญญา New START ได้รับการลงนามโดยรัสเซียและสหรัฐเมื่อปี 2010 และมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2011 นี่คือข้อตกลงควบคุมอาวุธเพียงฉบับเดียวที่เหลืออยู่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ หลังจากที่สหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญาขจัดขีปนาวุธวิสัยกลางและขีปนาวุธพิสัยใกล้หรือINF และสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้า ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า แต่ละประเทศจะได้รับอนุญาตให้ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้สูงสุด 1,550 หัวต่อจรวดขับดัน 700 ลูก เมื่อต้นปี 2021 หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐไม่นาน นาย โจ ไบเดน ได้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติข้อตกลงนี้เพิ่มอีก 5 ปีจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ปี 2026 ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียได้ทำให้การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะนำมาใช้แทนข้อตกลง  New START ยังไม่สามารถบรรลุความคืบหน้าใดๆ

เมื่อเร็วๆนี้ รัสเซียได้เตือนหลายครั้งเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีข้อตกลงทดแทนข้อตกลง New START เพราะเป็นการทำให้ความมั่นคงของโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยง และอาจก่อให้เกิดการแข่งขันอาวุธด้านนิวเคลียร์ครั้งใหม่ บรรดานักวิเคราะห์หลายคนยังแสดงความเห็นว่า ไม่สามารถคาดการณ์ขอบเขตของผลกระทบจากการไม่มีข้อตกลง New START ต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ระบบสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึง สนธิสัญญาห้ามทดลองและสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์

ในเอเชีย ในกรณีที่จีนเข้าร่วมการแข่งขันอาวุธเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐ อาจทำให้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและออสเตรเลียอาจเลือกที่จะทำการตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวในด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ การที่จีนเสริมสร้างศักยภาพทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะ ในสภาวการณ์ที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีเลวร้ายลงเมื่อเร็วๆนี้จะกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้จากอินเดียอย่างแน่นอน  การเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้อาจทำให้เกิดการแข่งขันอาวุธด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ การหยุดหรือการเลื่อนข้อตกลง New START ออกไปหมายความว่า กลไกการควบคุมระหว่างกันที่มีข้อผูกมัดทางนิตินัยจะหายไป ถ้าหากไม่มีกลไกดังกล่าว การเจรจาเกี่ยวกับการปลอดอาวุธนิวเคลียร์จะเผชิญกับก้าวถอยหลัง ซึ่งหมายความว่า ไม่เพียงแต่รัสเซียและสหรัฐเท่านั้น หากประเทศอื่นๆที่พร้อมเจรจาในเรื่องการจำกัดหรือลดอาวุธนิวเคลียร์จะต้องดำเนินกระบวนการทั้งหมดใหม่ตั้งแต่จุดเริ่มต้น.

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด