เสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเกี่ยวกับปัญหาระดับโลก

(VOVWORLD) -เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นาย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เริ่มการเยือนสหรัฐเป็นเวลา 4วัน ฝรั่งเศสในฐานะเป็นหนึ่งในหัวเรือของยุโรป การเยือนนี้จึงได้รับการประเมินว่า จะไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์พันธมิตรฝรั่งเศส-สหรัฐที่กำลังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หากยังถือเป็นก้าวเดินที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับสหรัฐ และมีผลต่อปัญหาระหว่างประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอีกด้วย   

เสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเกี่ยวกับปัญหาระดับโลก - ảnh 1  ประธานาธิบดีฝรั่งเศส  เอ็มมานูเอล มาครงและ ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ณ ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (Photo: Andrew Harnik/ AP)

ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ระหว่างประเทศ ความสำคัญของการเยือนครั้งนี้มาจากปัจจัยของกรอบเวลา นั่นคือสภาวการณ์ที่พิเศษเป็นอย่างยิ่งสำหรับทั้งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศและความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก     

สภาวการณ์ที่พิเศษ

สำหรับการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เดินทางไปเยือนวอชิงตันนับตั้งแต่นาย โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อเดือนมกราคมปี 2021

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชามติให้ความสนใจมากที่สุดคือการเยือนมีขึ้นในสภาวการณ์ที่สถานการณ์ในโลกกำลังผันผวนอย่างซับซ้อน และความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก รวมทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับฝรั่งเศสนั้นกลับไม่มีความมั่นคง เมื่อเดือนกันยายนปี 2021 ฝรั่งเศสได้มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง รวมทั้ง การเรียกเอกอัครราชทูตของตนประจำกรุงวอชิงตันกลับประเทศเพื่อปรึกษาหารือ หลังจากสหรัฐประกาศข้อตกลงขายเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลียในกรอบพันธมิตร AUKUS ในเหตุการณ์นั้น ออสเตรเลียได้ยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศส มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนไปซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐและอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ที่วุ่นวายระหว่างสองพันธมิตรที่ยาวนานยังคงปรากฏขึ้นเมื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐเนื่องจากขายก๊าซให้แก่ยุโรปในราคาที่สูงกว่าตลาดภายในประเทศหลายเท่า

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัญหาระหว่างประเทศที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง พันธมิตรสหรัฐ-ยุโรป รวมทั้งพันธมิตรสหรัฐ-ฝรั่งเศสกำลังมีความเห็นที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน อีกทั้งได้ประสานงานและร่วมมือเชิงปฏิบัติมากมาย ในการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน สหรัฐ ฝรั่งเศสและพันธมิตรในยุโรปได้ตกลงกับพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโคว์และให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมากเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของยูเครน สหรัฐและยุโรปยังเข้าร่วมในการเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน  ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปฏิบัติยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง การแก้ไขปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและผลักดันกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

เสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเกี่ยวกับปัญหาระดับโลก - ảnh 2ภาพการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม (Photo: Ludovic Marin/AFP/ Getty Images)

ระเบียบวาระการประชุมที่น่าสนใจ

สภาวการณ์ดังกล่าวอธิบายได้ว่า เหตุผลในการเจรจาของการเยือนสหรัฐครั้งนี้ของประธานาธิบดีฝรั่งเศสจึงไม่เพียงเน้นถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีและความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเท่านั้น หากยังรวมถึงปัญหาระหว่างประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะ ระเบียบวาระการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมตามเวลาสหรัฐ ประกอบด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความกังวลด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค Sahel ของแอฟริกา และยุทธนาการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

ก่อนการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ได้พบปะกับรองประธานาธิบดีสหรัฐ กมลา แฮร์ริส เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ในการนี้ รองประธานาธิบดีสหรัฐยืนยันว่า ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ และการเยือนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์หุ้นส่วนระหว่างทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกัน หลังการพบปะระหว่างนาย ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ และนาย เซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ณ เพนตากอน  กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการธำรงความสัมพันธ์ร่วมมือทวิภาคี และได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงเจตจำนงค์เพื่อจัดตั้งระบบหลักการร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย  และยังหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนยูเครน ศักยภาพขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต และความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก"

ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ การเยือนสหรัฐครั้งนี้ของประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นก้าวเดินใหม่ในกระบวนการเสริมสร้างและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับฝรั่งเศส ตลอดจนความสัมพันธ์สหรัฐ-ยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น ประชามติยังคาดหวังว่า การเยือนครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปัจจุบันเมื่อฝรั่งเศสยืนยันหลายครั้งว่า ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อความพยายามยุติความขัดแย้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ภายหลังการเยือนสหรัฐครั้งนี้ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล  มาครง จะหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมแผนการนี้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด