โลกจัดทำและปรับปรุงข้อกำหนดกำกับดูแล AI ให้มีความสมบูรณ์

(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ AI ถือเป็นก้าวพัฒนาที่ข้ามขั้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำไปสู่ศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่ในทางกลับกันก็ก่อให้เกิดความท้าทายต่อโลกมนุษย์
โลกจัดทำและปรับปรุงข้อกำหนดกำกับดูแล AI ให้มีความสมบูรณ์ - ảnh 1(vietnamplus.vn)

 

ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กำลังมีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าไปจนถึงผู้ช่วยเสมือนบนสมาร์ทโฟน หรือการแนะนำข่าว วิดีโอ เพลงบนเครือข่ายสังคมออนไลน์และการช็อปปิ้งออนไลน์ล้วนแต่เป็นการประมวลผลจาก AI นอกจากนั้น AI ยังถูกนำไปใช้กับรถยนต์ไร้คนขับหรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าและโรงเรียน เป็นต้น

ความเสี่ยงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ในการกล่าวปราศรัยเปิดการประชุม นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ยืนยันว่า AI มีศักยภาพในการปรับปรุงการดูแลสุขภาพ การศึกษาและด้านอื่นๆ ในชีวิตของประชาชน สหประชาชาติยังใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อระบุตรวจหารูปแบบความรุนแรง ติดตามการหยุดยิงและสนับสนุนความพยายามในการรักษาสันติภาพ แต่ในทางกลับกัน AI ยังสามารถถูกใช้เพื่อก่อวินาศกรรม การก่อการร้ายและอาชญากรรม ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก นอกจากนั้น AI ยังสามารถถูกนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและสิ่งที่เป็นด้านลบต่างๆ ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการเพื่อแก้ไขความเสี่ยงเหล่านี้ โลกจะไม่มีความรับผิดชอบต่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติจึงเรียกร้องให้จัดทำข้อกำหนดระหว่างประเทศเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจาก AI โดยประเทศต่างๆ ต้องจัดทำสนธิสัญญาที่มีข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อห้ามระบบอาวุธอัตโนมัติที่มีอานุภาพรุนแรงภายในปลายปี 2026 นอกจากนี้ ต้องจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติงานเพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการ AI ทั่วโลกเหมือนรูปแบบของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ส่วนนาย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำเดือนกรกฎาคมได้เผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ “ไม่มีพรมแดน” จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกด้านของชีวิตมนุษย์ สามารถส่งเสริมหรือทำลายเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ของโลกได้ เป้าหมายร่วมกันของโลกคือพิจารณาความเสี่ยงของ AI และตัดสินใจว่า จะบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไรผ่านการประสานงานร่วมกัน

ในขณะเดียวกัน นาย จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติได้อธิบายว่า AI เป็น “ดาบสองคม” ทางการปักกิ่งสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้ AI โดยนวัตรรมนี้จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์ใช้มันอย่างไร และประเทศต่าง ๆ ควรร่วมมือกันเพื่อควบคุมการใช้ AI

ส่วนนาย เจฟฟรีย์ เดอลอเรนติส อัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติได้แสดงความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือร่วมกันในความพยายามบริหาร AI และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง

โลกจัดทำและปรับปรุงข้อกำหนดกำกับดูแล AI ให้มีความสมบูรณ์ - ảnh 2นาย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ (AFP)

ปฏิบัติการจากประชาคมระหว่างประเทศ

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ทำให้หลายประเทศมีความวิตกกังวล โดยทั้งสหรัฐและยุโรปต่างได้มีท่าทีเร่งรัดการควบคุม AI อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะ สหภาพยุโรปกำลังมุ่งสู่การจัดทำประมวลกฎหมายฉบับแรกของโลกเพื่อควบคุม AI โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน สมาชิกรัฐสภายุโรปหรือ EP ได้ลงคะแนนอนุมัติข้อเสนอเจรจาเกี่ยวกับกฎหมายปัญญาประดิษฐ์เพื่อประกาศใช้กรอบทางนิตินัยเพื่อควบคุมระบบ AI โดยเร็ว แต่ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาของภาคส่วนนี้ EP ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการค้ำประกันว่า ระบบ AI จะถูกใช้ในสหภาพยุโรปหรือ EU อย่างปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าหาก EP และ 27 ประเทศสมาชิก EU บรรลุข้อตกลงฉบับนี้ภายในปลายปีนี้ตามเป้าหมายที่วางไว้ กลุ่มนี้จะมีกฎหมายฉบับแรกของโลกเกี่ยวกับการควบคุม AI

 ในขณะเดียวกัน ในกรอบการเยือนสหรัฐเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก ได้เผยว่า อังกฤษมีแผนที่จะจัดการประชุมสุดยอด AI ในปลายปีนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21

นอกจากนั้น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วุฒิสมาชิกสหรัฐได้แนะนำร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดเพื่อควบคุม AI  โดย1ใน2ร่างกฎหมายนี้เสนอให้สำนักงานราชการของสหรัฐเปิดเผยการใช้เทคโนโลยี AI เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนอย่างโปร่งใส อีกทั้ง เสนอให้ทางการสหรัฐจัดตั้งกลไกเพื่อให้ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการตัดสินใจของ AI และจัดตั้งหน่วยงานวิเคราะห์เพื่อค้ำประกันว่า สหรัฐจะเป็นผู้นำหน้าในการแข่งขันเพื่อพัฒนา AI

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม จีนได้ออกข้อบังคับชั่วคราวว่าด้วยการจัดการบริการปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์หรือ Generative AI ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งนี่เป็นกฎระเบียบด้าน AI ฉบับแรกของจีน

นอกจากนั้น สถานประกอบการด้านเทคโนโลยีก็เตือนถึงผลร้ายที่คาดเดาไม่ได้ถ้าหากมีการใช้เทคโนโลยีนี้ไปในทางที่ผิด อีกทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารจัดทำและปรับปรุงข้อกำหนดกำกับดูแล AI ให้มีความสมบูรณ์โดยเร็ว

ประโยชน์จาก AI ที่มีต่อโลกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยขาดการประเมินความเสี่ยงต่อสังคมอย่างสมบูรณ์ทำให้หลายประเทศต้องแสวงหาวิธีการควบคุมเพื่อค้ำประกันว่า เทคโนโลยีนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด