(VOVWORLD) - ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาได้เกิดการโจมตีทางอากาศอย่างหนักระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ซึ่งได้ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมีความวิตกกังวลว่า อาจเกิดสงครามในทุกด้านและไม่สามารถควบคุมได้
อาคารชั้นสูงในฉนวนกาซาถูกอิสราเอลโจมตีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม (Reuters) |
การปะทะอย่างดุเดือดทางทหารระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาถือเป็นการปะทะที่รุนแรงที่สุดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่สงครามปี 2014 ในฉนวนกาซ่า
ความตึงเครียดมีความรุนแรงมากขึ้น
เหตุผลที่ถือเป็นการจุดชนวนความตึงเครียดครั้งนี้คือการที่อิสราเอลขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในเขต Sheikh Jarrah ในเยรูซาเล็มตะวันออกให้ออกจากพื้นที่ที่ตนพำนักอาศัยมาเนิ่นนาน ด้วยความโกรธจากการกระทำนี้ ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากได้รวมตัวกันนอกอาคารที่ชาวยิวเพิ่งย้ายเข้ามาจนก่อให้เกิดการปะทะกันและกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่าได้ฉวยโอกาสนี้เพื่อเสริมสร้างอิทธิพลของตน โดยในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม กลุ่มฮามาสได้ให้คำมั่นที่จะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดที่ดินและสาบานว่า จะทำให้เมืองต่างๆของอิสราเอลกลายเป็น "เมืองนรก" รวมถึงกรุงเทลอาวีฟ
เมื่อคืนวันที่ 7-8 พฤษภาคมปี 2021 กองกำลังด้านความมั่นคงอิสราเอลได้ทำการโจมตีบริเวณวิหาร Temple Mount ในเยรูซาเล็มตะวันออกเพื่อสลายการชุมนุมของชาวมุสลิมปาเลสไตน์ที่มาทำการสวดมนต์ โดยได้บุกเข้าไปในลานของมัสยิดอัลอักซอซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอันดับสามของชาวมุสลิม รองจากนครเมกกะและมาดินา และได้ใช้แก๊สน้ำตากับกระสุนยางยิงใส่ผู้ที่มาสวดมนต์ รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ทำการโต้ตอบด้วยการขว้างก้อนอิฐและก้อนหินใส่ตำรวจ ส่วนเพื่อตอบโต้การกระทำของอิสราเอล มีจรวดกว่าหนึ่งพันลูกถูกยิงใส่อิสราเอล รวมทั้งเมืองหลวงเทลอาวีฟและเมืองอื่น ๆ และฝ่ายอิสราเอลได้ใช้เครื่องบินและขีปนาวุธโจมตีโต้ตอบใส่เป้าหมายกว่า 600 แห่งในฉนวนกาซา ซึ่งการปะทะนี้ได้สร้างความสูญเสียอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ทั้งสองฝ่าย
แม้ยังไม่มีข้อมูลสถิติอย่างสมบูรณ์ แต่จากแหล่งข่าวของอิสราเอลและปาเลสไตน์ จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคมปี 2021 จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขอทั้งสองฝ่ายกว่าพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมฉุกเฉิน 3 ครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติและบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆได้ประณามการโจมตีใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างรุนแรงและเรียกร้องให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ใช้ความอดกลั้น หลีกเลี่ยงไม่ให้การปะทะลุกลามในเยรูซาเล็มตะวันออกและฉนวนกาซ่า ประเทศต่างๆยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือกันเพื่อหาทางออกในรอบด้านและยั่งยืนบนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันของสองรัฐอิสราเอลและปาเลสไตน์
ไฟแห่งความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกครั้งในฉนวนกาซ่า (Reuters) |
เหตุผลของการปะทะที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน
เหตุผลของการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษโดยเยรูซาเล็มเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของความขัดแย้ง ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างประกาศว่า เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของตน แต่ขณะนี้เมืองแห่งนี้กำลังอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสราเอล สถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศของเยรูซาเล็มก็ยังไม่ได้รับการกำหนดไว้อย่างชัดเจน หลังสงครามเป็นเวลา 6 วันเมื่อปี 1967 อิสราเอลสามารถยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก รวมถึงเมืองเก่าและประกาศว่า เมืองเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของประเทศนี้แม้จะถูกคัดค้านจากนานาชาติในเวลานั้นก็ตาม ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ระบุว่า การผนวกเมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายและได้ยืนยันถึงจุดยืนนี้หลายครั้ง เมื่อปี 1988 รัฐปาเลสไตน์ได้ประกาศก่อตั้งรัฐโดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง ส่วนสนธิสัญญาสันติภาพออสโลที่ลงนามเมื่อปี 1993 ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลกำหนดว่า ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาและลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของเมืองเยรูซาเล็มและมี 136 ประเทศจากจำนวนทั้งหมด193 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้ยอมรับว่า รัฐปาเลสไตน์มีเมืองหลวงคือเยรูซาเล็ม
อาจกล่าวได้ว่า การปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เป็นการปะทะที่ยาวนานและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่โดยได้เกิดภาวะสงครามที่นองเลือดหลายครั้งและยังไม่มีแนวยุติ การที่ทางการอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่บางส่วนของเยรูซาเล็มตะวันออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นและทำให้พรมแดนระหว่าง "สองรัฐ" ในฉนวนกาซายังคงเกิดการปะทะที่รุนแรงซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อได.