ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่าง

(VOVWORLD) - ภาพพื้นเมืองกิมหว่างถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ณ หมู่บ้านกิมหว่าง ตำบลเวินแกง อำเภอหว่ายดึ๊ก กรุงฮานอย โดยภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองชนิดนี้จะถูกผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปรกติในช่วงปลายปี ตั้งแต่เดือน 10 ถึงเดือน 12 ตามจันทรคติเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในช่วงตรุษเต๊ด การผลิตภาพกิมหว่างมีการพัฒนาอย่างเข้มแข็งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แต่ถึงปี 1915 ก็สูญหายไปหลังหมู่บ้านกิมหว่างถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ด้วยความหลงใหลภาพพื้นเมืองกิมหว่าง นักสะสม เหงวียนถิทูหว่า ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เซรามิกฮานอยพร้อมเพื่อนร่วมงานได้พยายามฟื้นฟูแม่พิมพ์ไม้และภาพพื้นเมืองกิมหว่างขึ้นมา
ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่าง - ảnh 1ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่าง 

ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่างมีอีกชื่อหนึ่งคือภาพสีแดงเพราะมักจะพิมพ์บนกระดาษสาสีแดง ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศที่รื่นเริงในช่วงตรุษเต๊ดและสะท้อนความปรารถนาของประชาชนเกี่ยวกับชีวิตที่โชคดีและอิ่มหนำผาสุก หลังฤดูเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม ท่ามกลางสภาพอากาศที่เริ่มหนาวจัด ชาวบ้านกิมหว่างมักจะไปซื้อกระดาษสีที่ถนนห่างหมาในย่านถนนโบราณ 36 สายของกรุงฮานอยเพื่อนำมาพิมพ์ภาพ สำหรับขั้นตอนการทำก็คล้ายๆกับการทำภาพพื้นเมืองดงโห่ตรงที่ต้องมีแม่พิมพ์ไม้ โดยใช้น้ำทาแม่พิมพ์ให้ชุ่มจากนั้นนำกระดาษมาวางบนแม่พิพม์แล้วถูด้วยใยบวบจนภาพปรากฎขึ้นบนกระดาษ ต่อจากนั้นให้นำไปตากแห้งก่อนนำไประบายสีเพื่อให้ภาพดูมีชีวิตชีวาโดดเด่นมากขึ้น โดยพู่กันที่ใช้ระบายสีต้องทำจากฟางข้าวเหนียวเพื่อให้ได้ขนพู่กันที่นุ่มพอดี นอกจากจุดเด่นในการใช้กระดาษสีแล้ว ความพิเศษอีกอย่างของภาพพื้นเมืองกิมหว่างอยู่ที่บริเวณมุมภาพ ซึ่งจะมีการเขียนบทกลอนหรือสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องรางกันผี ดังนั้น ศิลปินที่พิมพ์ภาพจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องนี้อย่างกว้างลึกเช่นกัน คุณ หวูยวีซิ๊ก ชาวบ้านกิมหว่างอธิบายว่า “ภาพกิมหว่างมีรูปภาพต่างๆ เช่น ภาพหมูภาพไก่หรือภาพจอหงวนที่มีบทกลอนอวยพรให้ผู้ซื้อภาพประสบความสำเร็จในการสอบหรือการทำงาน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพไก่มีบทกลอนอวยพรให้คนรุ่นหลังประสบโชคลาภมากๆกว่าคนรุ่นก่อน”

ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่าง - ảnh 2 กระดาษสี

อย่างไรก็ตามแม้จะมีคุณค่าสูงด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านแต่ภาพพื้นเมืองกิมหว่างได้พัฒนาคู่กับชีวิตของชาวเวียดนามในระยะหนึ่งเท่านั้น โดยเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 1915 ได้ทำลายเขื่อนกั้นน้ำเลียนหมาก น้ำเข้ามาท่วมเต็มหมู่บ้าน แม่พิมพ์ไม้ของภาพพื้นเมืองกิมหว่างส่วนใหญ่หายไปกับสายน้ำ ต่อจากนั้นชีวิตของผู้คนก็ตกอยู่ในภาวะหิวโหยและสงครามทำให้ความนิยมในการหาซื้อภาพพื้นเมืองกิมหว่างค่อยๆลดลง ส่งผลให้จำนวนศิลปินในหมู่บ้านนับวันลดน้อยลง เพราะเหตุนี้ การพื้นฟูอาชีพพื้นเมืองของหมู่บ้านกิมหว่างจึงเป็นความปรารถนาของผู้ที่รักศิลปะพื้นบ้านนี้ รวมทั้งนักสะสม เหงียนถิทูหว่า โดยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2016 คุณหว่าได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานเปิดดำเนินโครงการ “ฟื้นฟูหมู่บ้านศิลปาชีพภาพพื้นเมืองกิมหว่าง” โดยเริ่มจากการวิจัยและพยายามฟื้นฟูแม่พิมพ์ไม้ของภาพกิมหว่าง จากข้อมูลที่ศึกษามาได้แม่พิมพ์ไม้กิมหว่างมีกว่า 100 แบบแต่ทางหมู่บ้านกิมหว่างสามารถเก็บรักษาได้เพียง 2 ชิ้น ปัจจุบันคุณหว่าและเพื่อนๆ ก็พยายามฟื้นฟูได้ 33 ชิ้น เมื่อเราถามถึงอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติโครงการในวันแรกๆ คุณ หว่า บอกว่า            “มีบางครั้งภาพที่เราทำขึ้นมานั้นเสียเป็นพันๆภาพ แต่เราก็พยายามศึกษาเรียนรู้และพยายามปรับปรุงจนสำเร็จ ปัจจุบันนี้ ภาพกิมหว่างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเราผลิตไม่ทัน บางภาพยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทำ จึงต้องระมัดระวังในการนำมาขาย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงแรกไปได้แล้ว ปัจจุบันนี้เพียงต้องรักษาและพัฒนาต่อไปเท่านั้น”

ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาพพิมพ์ไม้พื้นเมืองกิมหว่าง - ảnh 3การทำภาพกิมหว่างต้องมีแม่พิมพ์ไม้  

ณ ปัจจุบันนี้เมื่อมาที่หมู่บ้านกิมหว่าง ตำบลเวินแกง ไม่ว่าจะในวันที่แดดออกหรือฝนตกลมหนาวก็จะเห็นสมาชิกของโครงการฯ นั่งพิมพ์ภาพพื้นเมืองกิมหว่างอย่างตั้งใจที่หอวัฒนธรรม ซึ่งโครงการนี้ได้จุดประกายการฟื้นฟูภาพพื้นเมืองกิมหว่าง หลังจากเกือบสูญหายในตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เมื่อตรุษเต๊ดปี 2017 ณ วันเมี้ยวก๊วกตื๋อย้ามในกรุงฮานอยได้มีการจัดกิจกรรมแนะนำภาพพื้นเมืองกิมหว่าง ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ภาพพื้นเมืองกิมหว่างกลับมาได้รับความนิยมเหมือนในอดีตอีกครั้ง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด