สตรีชนเผ่าเกอตูร่วมกันอนุรักษ์อาชีพพื้นเมือง

(VOVworld)- ถึงแม้ว่าในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่รวดเร็วนั้นอาชีพทอผ้าพื้นเมืองของชนเผ่าอื่นๆในเขตเขาเจื่องเซินและเขตที่ราบสูงเตยเงวียนจะถูกลืมเลือนและสูญหายไปแล้วแต่สำหรับชนเผ่าเกอตูที่อ.นามยางจังหวัดกว๋างนามยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อไป โดยได้รับการเผยแพร่ไปยังท้องถิ่นอื่นๆทั่วประเทศรวมทั้งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย

(VOVworld)-
ถึงแม้ว่าในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่รวดเร็วนั้นอาชีพทอผ้าพื้นเมืองของชนเผ่าอื่นๆในเขตเขาเจื่องเซินและเขตที่ราบสูงเตยเงวียนจะถูกลืมเลือนและสูญหายไปแล้วแต่สำหรับชนเผ่าเกอตูที่อ.นามยางจังหวัดกว๋างนามยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะหลังจากได้รับการสนับสนุนจากโครงการเอฟไอดีอาของญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองของสตรีเกอตูยังได้รับการเผยแพร่ไปยังท้องถิ่นอื่นๆทั่วประเทศรวมทั้งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย
สตรีชนเผ่าเกอตูร่วมกันอนุรักษ์อาชีพพื้นเมือง  - ảnh 1
ส̣ตรีชนเผ่าเกอตูในชุดประจำชนเผ่า(internet)

หมู่บ้าน เยอรา ต.ตาเบอฮิง ในจ.หวัดกว๋างนามเป็นหนึ่งในท้องถิ่นของชนเผ่าเกอตูที่ขึ้นชื่อด้านผ้าพื้นเมืองลวดลายสวยงาม โดยตั้งแต่เริ่มแรกอาชีพนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในครอบครัวและในชุมชนชาวเกอตูเท่านั้น แต่เมื่อเศรษฐกิจเชิงตลาดมีการพัฒนา ก็มีการนำผ้าชนิดต่างๆมาขายจนทำให้ผ้าพื้นเมืองเริ่มถูกลืมเลือนและสตรีที่รู้จักวิธีการทอผ้าพื้นเมืองก็เริ่มลดน้อยลง แต่จนถึงปี2000เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรอุปถัมภ์และพัฒนาของญี่ปุ่นในโครงการมูลค่า5หมื่น5พันเหรียญสหรัฐ ทางการท้องถิ่นก็ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านขยายการผลิต ยกระดับทักษะฝีมือและประชาสัมพันธ์เพื่อหาตลาดรองรับ คุณฝามทิยือ รองประธานคณะกรรมการประชาชนอ.นามยางเผยว่าหลังจากได้รับความช่วยเหลือจากโครงการของญี่ปุ่นในการประชาสัมพันธ์ การฝึกสอนอาชีพและการออกแบบลวดลาย อาชีพทอผ้าพื้นเมืองของต.เยอรา ก็มีโอกาสพัฒนา โดยได้มีการนำผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองไปร่วมงานแสดงสินค้าที่นครโฮจิมินห์จนกลายเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศและสร้างตลาดรองรับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ในช่วงเริ่มต้นรณรงค์ให้สตรีเกอตูเข้าร่วมสโมสรผ้าพื้นเมืองเพื่อฟื้นฟูอาชีพนี้ใหม่ๆนั้นก็ประสบกับอุปสรรคไม่น้อยเนื่องจากโดยปกติแล้วพวกเขาจะไปทำไร่ทำนาตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงค่ำมืด แต่ด้วยความมุ่งมั่นและพยายามเป็นอย่างสูงสโมสรผ้าพื้นเมืองก็เริ่มมีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆโดยจากเดิมมีเพียง20คนที่มาจากหลายหมู่บ้านปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า40คนแล้ว โดยหลังเวลาทำไร่ทำนา สตรีในหมู่บ้านก็มาชุมนุมกันเพื่อร่วมทอผ้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและมีรูปแบบที่หลากหลายกว่า40ประเภทไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระโปรง กระเป๋าหรือหมวก ซึ่งนอกจากได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวประจำถิ่นแล้ว ผ้าพื้นเมืองของสตรีเกอตูยังถูกส่งไปขายในตัวเมืองใหญ่ๆเช่น ฮานอย นครโฮจิมินห์หรือนครเกิ่นเทอ เป็นต้น ช่วยให้รายได้จากอาชีพทอผ้าพื้นเมืองนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร คุณ เหงวียนทิกิมลาน สมาชิกสโมสรผ้าพื้นเมือง เยอรา เผยว่าสมาคมสตรีและโครงการเอฟไอดีอาได้ให้ความสนใจพัฒนาอาชีพทอผ้าพื้นเมืองเป็นอย่างมากโดยช่วยแสวงหาตลาดรองรับ เพิ่มรายได้และช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเราตระหนักดีว่านี่เป็นอาชีพพื้นเมืองที่เก่าแก่ต้องร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป

สตรีชนเผ่าเกอตูร่วมกันอนุรักษ์อาชีพพื้นเมือง  - ảnh 2
ถ่ายทอดอาชีพทอผ้าให้ชนรุ่นหลัง(internet)

ปัจจุบัน ผู้ที่เป็นช่างศิลป์อาวุโสกำลังพยายามถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้าในสมัยโบราณให้แก่ชนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน โดยได้มีความพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างมีความคิดสร้างสรรค์แต่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าพื้นเมืองเกอตู ซึ่งรูปแบบโครงการนี้ยังได้รับการขยายผลไปยังท้องถิ่นอื่นๆอีกด้วย คุณ เลทิเหละถวี นายกสมาคมสตรีอ.นามยางจ.กว๋างนามเผยว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่สตรีในหมู่บ้านเยอราที่ผลักดันการพัฒนาอาชีพทอผ้าพื้นเมืองเท่านั้น หากชาวบ้านในท้องถิ่นอื่นๆทั้งอ.ต่างร่วมกันส่งเสริมอาชีพนี้ต่อไป รวมทั้งได้มีการเรี่ยไรเงินสร้างบ้านกลางเพื่อใช้เป็นศูนย์ทอผ้าของสตรีในท้องถิ่นอีกด้วย

ในคลังวัฒนธรรมของชนเผ่าเกอตู อาชีพทอผ้าพื้นเมืองเพื่อผลิตชุดประจำชนเผ่านั้นเป็นหนึ่งในมรดกนามธรรมที่มีค่าที่สามารถสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์อย่างเด่นชัด ดังนั้นโครงการพื้นฟูและพัฒนาอาชีพพื้นเมืองนี้ในนามยางจึงไม่เพียงแต่ช่วยสร้างงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นเท่านั้นหากยังเป็นการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของชนเผ่าเกอตูให้พัฒนาคงอยู่สืบไปอีกด้วย./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด