(VOVWORLD) - อำเภอเตยยางเป็น 1 ใน 9 อำเภอเขตเขาของจังหวัดกว๋างนาม ติดกับประเทศลาว มีพื้นที่กว่า 900 ตารางกิโลเมตร มี 10 กลุ่มชาติพันธุ์อาศัย โดยชนเผ่าเกอตูมีประชากรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 95 และมีพื้นที่ป่าปฐมภูมิมากที่สุดของเวียดนาม โดยทางการอำเภอเตยยางให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการอนุรักษ์และพัฒนาป่าควบคู่กับการพัฒนาการประกอบอาชีพของชาวบ้านบนเจตนารมณ์ “ป่าคงอยู่ อำเภอเตยยางก็พัฒนา ป่าหดหาย อำเภอเตยยางก็ถอยหลัง”
ภาพป่าไม้ในอำเภอเตยยาง |
อำเภอเตยยางมีพื้นที่ป่าธรรมชาติเกือบ 9 หมื่น 2 พันเฮกตาร์และมีต้นไม้มรดกมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระบบพืชและสัตว์ที่หลากหลาย อัตราการครอบคลุมพื้นที่ของป่ากว่าร้อยละ 74 ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ
ปัจจุบัน อำเภอเตยยางกำลังอนุรักษ์ป่ามรดกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยป่าต้นคำแดงที่ยอดเขา K'Lang ในตำบล Tr'hy ที่มีความสูงกว่า 2 พันเมตร ซึ่งถูกเปรียบเสมือนสมบัติของชนเผ่าเกอตูและเป็นหนึ่งในป่าไม่กี่แห่งในเวียดนามที่มีป่าต้นคำแดงโบราณ โดยมีต้นคำแดงโบราณหลายร้อยปีกว่า 430 ต้นที่ได้รับการรับรองเป็นต้นไม้มรดกของเวียดนาม ซึ่งการมอบหน้าที่อนุรักษ์ป่าให้แก่ชาวบ้านเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะชาวบ้านที่นี่มีความสามัคคีและพร้อมร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติงานด้านนี้ นาย Bhling Mia เลขาธิการพรรคสาขาและประธานสภาประชาชนอำเภอเตยยาง ได้เผยว่า
“ป่าเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาของกลุ่มชาติพันธุ์ทางทิศตะวันตกของจังหวัดกว๋างนาม มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ค้ำประกันงานด้านกลาโหม ความมั่นคงและการอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรม โดยทางอำเภอเตยยางได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า “ป่าคงอยู่ อำเภอเตยยางก็พัฒนา ป่าหดหาย อำเภอเตยยางก็ถอยหลัง” ซึ่งปัจจุบันงานด้านการบริหาร อนุรักษ์และพัฒนาป่าได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทางอำเภอฯจะมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในการปลูกป่าและได้รับประโยชน์จากนโยบายสวัสดิการสังคม อีกทั้งตรวจสอบและปรับปรุงการวางแผนพัฒนาการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อค้ำประกันชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผสานกับการแก้ปัญหาความยากจน”
ส่วนในมุมมองของเขตชุมชน การประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์ป่าได้รับการส่งเสริมผ่านเทศกาลทางวัฒนธรรม เช่น งานเซ่นไหว้เทพป่าของชนเผ่าเกอตู โดยมีวัตถุประสงค์ยกระดับจิตสำนึกของชาวบ้านเกี่ยวกับการบริหารและอนุรักษ์ป่า
ต้น Fokieniaโบราณในอำเภอเตยยาง |
ปัจจุบัน อำเภอเตยยาง กำลังใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ป่าและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยได้เลือกหมู่บ้าน Ta Lang, Pơr’ning หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมรดก Pơmu โฮมสเตย์โหลกเจ่ย หมู่บ้านวัฒนธรรมและนิเวศ Aur เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีแนวทางพัฒนาพืชสมุนไพร โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพร เช่น ปาจี๋เทียน ตังเซียม แซมใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ในป่า หรือ ผสานกับการปลูกข้าว ซึ่งช่วยให้หลายครอบครัวสามารถสร้างฐานะให้ดีขึ้น นาย Bríu Pố กำนันผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านลัง อำเภอเตยยางได้เผยว่า
“ครอบครัวผมได้ปลูกปาจี๋เทียนในพื้นที่ 1.3 เฮกตาร์ ซึ่งปลูกง่ายมาก ขายได้ในราคา 5 แสนด่ง หรือ ประมาณ 21 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมและสร้างรายได้กว่า 100 ล้านด่ง หรือประมาณ 4 พัน 1 ร้อยดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยการปลูกปาจี๋เทียนช่วยให้ครอบครัวร้อยละ 65-70 สามารถหลุดพ้นจากความยากจน”
งานเซ่นไหว้เทพป่าของชนเผ่าเกอตู |
การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในการพัฒนาป่าคือแนวโน้มที่สำคัญของโลก โดยการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติได้ช่วยให้อำเภอเตยยางและจังหวัดกว๋างนามสามารถขายคาร์บอนเครดิตและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสูง นาย โห่กวางบิ๊ว รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างนาม ได้เผยว่า
“คาดว่า จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้เกือบ 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน จังหวัดกว๋างนามมีพืชสมุนไพรเป็นจำนวนมากและกำลังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของพืชสมุนไพรในภาคกลางและเขตที่ราบสูงเตยเงวียน โดยแนวทางนี้ได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี”
ทั้งนี้ อำเภอเตยยางเป็นตัวอย่างดีเด่นในการอนุรักษ์และพัฒนาป่าในจังหวัดกว๋างนาม นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมศักยภาพของป่าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ.