นักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน

(VOVWORLD) - ขลุ่ย ชุดแต่งกายที่มีลวดลายพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวม้ง รวมทั้งบทเพลงพื้นเมืองและภาษาม้งคือสิ่งที่นักศึกษาชาวม้งได้นำติดตัวและไม่เคยลืมในการไปศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆในกรุงฮานอย
นักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน - ảnh 1คุณหย่างแซวกว๋าง ชาวม้งฮวาจากเมืองบั๊กห่า จังหวัดลาวกาย

“ผมกำลังเรียนชั้นปีที่ 3มหาวิทยาลัยกฎหมายฮานอย ผมไม่ได้เรียนการเป่าขลุ่ยอย่างจริงจัง แต่ผมชอบมากจนพยายามฝึกเป่าและลองทำขลุ่ยด้วยตนเอง สำหรับวิธีการทำขลุ่ยของช่างศิลป์นั้น ต้องเลือกต้นไผ่ป่องที่ป่าแล้วนำไปตากแห้ง บางทีต้องนำไผ่ป่องไปต้มแล้วหมักเกลือเพื่อกันปลวก ส่วนผมหาซื้อต้นไผ่ป่องมาทำขลุ่ย โดยการขัดเงาถือเป็นขั้นตอนที่ยากทีสุดเพราะถ้าขัดมากเกินไปจะทำขลุ่ยไม่ได้”

คุณหย่างแซวกว๋าง อายุ 21ปี ชาวม้งฮวาจากเมืองบั๊กห่า จังหวัดลาวกายเป็นหนึ่งในนักศึกษาชาวม้งกว่า 2000คนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆในกรุงฮานอย โดยนอกจากการเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว คุณหย่างแซวกว๋างยังสงวนเวลาลองทำขลุ่ยด้วยตนเองเพื่อนำไปเป่าหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนักศึกษาชาวม้งในงานเทศกาลและกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆของชาวม้งในกรุงฮานอย“เยาวชนชาวม้งส่วนใหญ่ชอบขลุ่ยมากดังนั้นผมจึงทำและจัดแสดงขลุ่ยในงานเทศกาลต่างๆของชาวม้งในกรุงฮานอย สำหรับคนที่ต้องการซื้อก็จะขายให้ ราคาเลาละ 5 แสนด่ง ขลุ่ยของชนเผ่าม้งมีรูบังคับเสียง 6-7 รู โดยชายหนุ่มชาวม้งมักจะเป่าขลุ่ย แตรและแคนเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกกับสาวที่ตนชอบ นอกจากนี้ ชาวม้งยังเป่าขลุ่ยเพื่อผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน ขลุ่ยของชนเผ่าม้งได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเป่าเพลงร่วมสมัยได้ โดยมีการเจาะรูบังคับเสียงเพิ่มอีก 2 รู”

นักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน - ảnh 2 คุณสุ่งถิซวน อายุ 20ปี ชาวม้งขาวจากตำบลเหมื่องบั่ง อำเภอมายเซิน จังหวัดเซินลา

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ชายหนุ่มชาวม้งชื่นชอบเป็นอย่างมาก ส่วนสำหรับสาวชาวม้งนั้น ชุดแต่งกายที่มีสีสันฉูดฉาดและมีลวดลายพื้นเมืองถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือของสาวชาวม้งในการทอผ้าทำชุดแต่งกาย โดยตามประเพณีของชนเผ่าม้ง ก่อนงานแต่งงาน สาวชาวม้งต้องทอผ้าเย็บชุดแต่งกายที่มีลวดลายสวยงามที่สุดเพื่อนำไปใส่ที่บ้านสามี แต่การพัฒนาของยุคสมัยในปัจจุบันและการผสมผสานด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆได้ส่งผลกระทบต่อประเพณีอันดีงามดังกล่าวของสาวชาวม้ง คุณสุ่งถิซวน อายุ 20ปี ชาวม้งขาวจากตำบลเหมื่องบั่ง อำเภอมายเซิน จังหวัดเซินลา นักศึกษาคณะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยครูฮานอยได้เผยว่า“ปัจจุบัน เยาวชนชาวม้งมักจะใส่ชุดแต่งกายแบบร่วมสมัยที่ทำโดยชาวม้งในประเทศจีนและประเทศลาว ส่วนดิฉันชอบใส่ชุดแต่งกายพื้นเมืองของชนเผ่าม้งขาว โดยสตรีชนเผ่าม้งขาวในบ้านเกิดของดิฉัน รวมทั้งหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดเดียนเบียนและจังหวัดลายโจว์มักจะใส่กางเกงแทนกระโปรงยาว ส่วนการทำเสื้อนั้น ต้องใช้ผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดประมาณ 1เมตร ผ้าคลุมศีรษะของดิฉันติดเครื่องประดับจากผ้าที่มีรูปกลมๆสีชมพู ส่วนผ้าคาดเอวมีสองชั้นเพื่อทำให้เอวดูกว้างขึ้น”

นักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน - ảnh 3 คุณสุ่งถิฮวา ชาวม้งดูจากอำเภอหม่กังจ๋าย จังหวัดเอียนบ๊าย 

นอกจากชื่นชอบใส่ชุดแต่งกายพื้นเมืองของชนเผ่าตนแล้ว สาวชาวม้งบางคนได้นำผ้าที่มีลวดลายพื้นเมืองมาเย็บเป็นชุดเพื่อใส่มาไปศึกษาที่กรุงฮานอย คุณสุ่งถิฮวา ชาวม้งดูจากอำเภอหม่กังจ๋าย จังหวัดเอียนบ๊าย นักศึกษาวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ได้เผยว่า“ดิฉันได้นำวัสดุในการเย็บเสื้อและกระโปรงติดตัวมาด้วยเพื่อทำในเวลาว่าง ซึ่งก่อนแต่งงาน สาวชาวม้งต้องเย็บเสื้อและกระโปรง 3-4 ชุดต่อปี ส่วนดิฉันเย็บเสื้อและกระโปรงเพียง 1-2 ชุดต่อปีเท่านั้นเพราะต้องเรียนหนังสือ”

ถึงแม้จะเดินทางไปศึกษาที่กรุงฮานอยเป็นเวลา 3-4ปี แต่นักศึกษาชาวม้งก็ไม่เคยลืมรากเหง้าของตนเพราะมีการจัดกิจกรรมต่างๆในชมรมนักศึกษาและเยาวชนชาวม้งในกรุงฮานอย คุณสุ่งถิยุง อายุ 21ปี ชาวม้งฮวาจากอำเภอซีมากาย จังหวัดลาวกาย นักศึกษามหาวิทยาลัยแรงงานและสังคมได้เผยว่า“การไปศึกษาที่กรุงฮานอยทำให้พวกเรามีโอกาสพูดภาษาม้งไม่มากเพราะมีเพื่อนๆจากหลายชนเผ่า แต่พวกเราก็ได้จัดตั้งสมาคมนักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนและประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง อีกทั้งเพื่ออนุรักษ์ภาษาม้งเอาไว้”

นักศึกษาชาวม้งในกรุงฮานอยอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าตน - ảnh 4คุณสุ่งถิยุง อายุ 21ปี ชาวม้งฮวาจากอำเภอซีมากาย จังหวัดลาวกาย  

คุณผู้ฟังกำลังฟังการร้องเพลงภาษาม้งที่มีชื่อว่า“Tin vào duyên số”  หรือ แปลว่า “เชื่อในชะตา”จากการขับร้องของคุณสุ่งถิยุง โดยเธอได้ฟังและเรียนการร้องเพลงภาษาม้งผ่านทางยูทูป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้คุณสุ่งถิยุงและเยาวชนชาวม้งสามารถอนุรักษ์ภาษาของชนเผ่าตนได้เป็นอย่างดี.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด