(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปี 2017 การร้องเพลงทำนองซวานในจังหวัดฟู้เถาะได้รับการรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก โดยจากการเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนสู่การเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติในตลอด 6 ปี ได้แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจ ความพยายามและความรับผิดชอบในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการร้องเพลงทำนองซวานของทางการปกครองและประชาชนในท้องถิ่น
การแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน (baochinhphu.vn) |
ที่บ้านเล็กๆ หลังหนึ่งของสโมสรเพลงทำนองซวานอานท้าย ตำบลเฝื่องโลว์ เมืองเหวียดจี่ จังหวัดฟู้เถาะ บรรดาศิลปินอาวุโสกำลังสอนการร้องเพลงทำนองซวานให้แก่คนรุ่นใหม่ เช่น คุณ บุ่ยเหวียดห่าวและคุณบุ่ยยือกวิ่ง ซึ่งมีปู่ ยายและแม่เป็นนักร้องเพลงทำนองซวานจึงได้ฟังเพลงทำนองซวานตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้พวกเขาชื่นชอบศิลปะแขนงนี้เป็นอย่างมาก
“หนูได้เรียนการร้องเพลงทำนองซวานตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งชอบมากและอยากไปแสดงการร้องเพลงทำนองซวานในท้องถิ่นต่างๆเพื่อมีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้”
“ทั้งคุณปู่ คุณยาย แม่และพี่ชายของหนูได้เข้าร่วมสโมสรการร้องเพลงทำนองซวานและหนูก็ชอบร้องเพลงทำนองซวานเป็นอย่างมาก”
เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกการร้องเพลงทำนองซวาน ทางจังหวัดฟู้เถาะได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการสอนและการแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน โดยได้อบรมศิลปินสืบสานศิลป์กว่า 100 คน ส่วนที่หมู่บ้านเพลงทำนองซวานโบราณ มีทั้งศิลปินอาวุโส ศิลปินสืบสานศิลป์และศิลปินรุ่นใหม่ โดยเมื่อปี 2022 จังหวัดฟู้เถาะมีศิลปินเพลงทำนองซวานอีก 13 คนที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินยอดเยี่ยม ศิลปินยอดเยี่ยม เหงวียนถิเบียนและศิลปินยอดเยี่ยม บุ่ยถิเลืองจากสโมสรเพลงทำนองซวานอานท้าย ตำบลเฝื่องโลว์ เมืองเหวียดจี่ได้เผยว่า
“ดิฉันและสมาชิกสโมสรฯทุกคนต่างรู้สึกปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พรรคฯและรัฐให้ความสนใจอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะแขนงนี้”
“การได้รับการรับรองให้เป็นศิลปินยอดเยี่ยมทำให้ดิฉันต้องพยายามมากขึ้นในการสอนและอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองซวานเพื่อไม่ให้ศิลปะแขนงนี้สูญหายไป”
จังหวัดฟู้เถาะได้ส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองซวานที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง โดยมีการพัฒนาสโมสรเพลงทำนองซวานระดับจังหวัด 34 แห่ง รวมสมาชิกกว่า 1 พัน 5 ร้อยคน เพิ่มขึ้น 23 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเมื่อปี 2011 มีสโมสรการร้องเพลงทำนองซวานและเพลงพื้นเมืองระดับอำเภอ 64 แห่งและระดับตำบล 42 แห่ง รวมสมาชิกหลายหมื่นคน นาง ฝ่ามถิบิ๊ก จากสโมสรการร้องเพลงทำนองซวานสำหรับผู้สูงอายุตำบลมิงด่าย อำเภอเตินเซิน จังหวัดฟู้เถาะได้เผยว่า
“หลังจากเข้าร่วมสโมสรฯแล้ว ดิฉันได้ศึกษาค้นคว้าและเข้าใจในทำนองและเนื้อร้องที่บรรยายเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการผลิตของชาวบ้านในสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการอนุรักษ์เพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง”
เพื่อให้การร้องเพลงทำนองซวานใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ ทางจังหวัดฟู้เถาะได้ผลักดันการร้องเพลงทำนองซวานในโรงเรียนต่างๆ โดยได้สอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนและจัดการประกวดและงานมหกรรมการร้องเพลงทำนองซวาน คุณเหงวียนโจว์แองและคุณครู บุ่ยถิเตวี๊ยดมาย จากโรงเรียนประถมศึกษายาเกิ่มในเมืองเหวียดจี่ ได้เผยว่า
“การร้องเพลงทำนองซวานค่อนข้างยาก แต่เมื่อเข้าใจทำนองและเนื้อร้องแล้ว ก็รู้สึกชอบมาก”
“ทางการท้องถิ่นได้สอดแทรกการร้องเพลงทำนองซวานในหลักสูตรการเรียนการสอนเมื่อปี 2018 ซึ่งดิฉันหวังว่า จะมีการสอนการร้องเพลงทำนองซวานโบราณในโรงเรียนต่างๆ”
นายเหงวียนดั๊กถวี ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดฟู้เถาะ (quochoi.vn) |
ทางการจังหวัดฟู้เถาะยังได้ผลักดันการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาประจำหมู่บ้านและวิหารที่มีการแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน อีกทั้งอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกการร้องเพลงทำนองซวานควบคู่กับการพัฒนการท่องเที่ยวเพื่อผลักดันให้ศิลปะแขนงนี้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่โดดเด่น นายเหงวียนดั๊กถวี ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดฟู้เถาะได้เผยว่า
“ในเวลาข้างหน้า ทางสำนักงานฯจะเดินหน้าปฏิบัติโครงการอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองซวานของจังหวัดฟู้เถาะ โดยเน้นปรับปรุงโซนอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม การสอนการร้องเพลงทำนองซวาน ทำการวิจัย รวบรวมเพลงซวานโบราณและฟื้นฟูกิจกรรมและประเพณีเกี่ยวกับศิลปะแขนงนี้ ตลอดจนจัดทำสิ่งพิมพ์และบันทึกเพลงทำนองซวานสำหรับประชาสัมพันธ์และสอนการร้องเพลงนี้ในโรงเรียนต่างๆ”
ทั้งนี้ จังหวัดฟู้เถาะได้อนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกการร้องเพลงทำนองซวานควบคู่กับความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งอย่างมีประสิทธิภาพในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ศิลปะแขนงนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น ช่วยเชื่อมโยงชุมชนและประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม.