เกษตรกรเวียดนามเข้าร่วมตลาดโลก โอกาสและความท้าทาย
(VOVWORLD) -ต่อจากการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกหรือ WTO เมื่อปี 2017 ในหลายปีมานี้ เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าสำคัญๆกับหุ้นส่วนเศรษฐกิจรายใหญ่ๆ ซึ่งที่น่าสนใจคือข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพีและข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับอียูหรืออีวีเอฟทีเอ ที่ได้เปิดโอกาสการส่งออกให้แก่สินค้าการเกษตรของเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวางแผนด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศต่างเตือนว่า นอกจากโอกาสที่ยิ่งใหญ่แล้วภาคการเกษตรและเกษตรกรของเวียดนามก็ต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ
ตามข้อมูลสถิติ มุลค่าการส่งออกสินค้าการเกษตรในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมปี 2019 ของเวียดนามได้บรรลุ 2 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าบางรายการได้บรรลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยให้เวียดนามติด1ใน 15 ประเทศที่มีการส่งออกสินค้าการเกษตรมากที่สุดในโลก นี่คือข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
แต่อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าการเกษตรจากต่างประเทศของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการผสมผสานเข้ากับกระแสโลกอย่างกว้างลึก สมาคม Belgapom ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้ามันฝรั่งเบลเยียมเผยว่า การนำเข้ามันฝรั่งเบลเยียมของเวียดนามได้เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าในช่วง 10 ปีมานี้ โดยเพิ่มจาก 385 ตันในปี 2010 ขึ้นเป็นกว่า 2,800 ตันในปี 2018 และใน 6 เดือนแรกของปีนี้ได้บรรลุ 3,500 ตัน
นอกจากนี้ ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามได้นำเข้าสินค้าการเกษตรจากสหรัฐรวมมูลค่า 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ตัวเลข 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนักแต่สิ่งที่น่ากังวลคือปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 และสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐมีราคาไม่แพงที่สามารถแข่งขันกับสินค้าภายในประเทศได้ โดยราคาสินค้าต่างๆที่นำเข้าจากสหรัฐ เช่น องุ่น เชอร์รี แอปเปิ้ล รวมทั้งสัตว์ปีกและกุ้งมังกรล้วนมีราคาถูกลง แม้เป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคเวียดนามแต่นี่กลับเป็นข่าวร้ายต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรเวียดนามเพราะเวียดนามมีจุดแข็งในด้านการเกษตรและมีประชากรถึงร้อยละ 70 เป็นเกษตรกร
ในฟอรั่มเกษตรกรแห่งชาติครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “จากข้อตกลงซีพีทีพีพีถึงข้อตกลงอีวีเอฟทีเอ ร่วมกับเกษตรกรเวียดนามไปตลาดโลก” ที่จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์เวียดนามและสมาคมเกษตรกรส่วนกลางเวียดนามเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยในการพูดคุยในหัวข้อ “เกษตรกรเวียดนามเข้าร่วมตลาดโลก เป็นเรื่องที่ยากหรือง่าย” ผู้แทนทุกคนต่างยืนยันว่า ควบคู่กับโอกาส ข้อตกลงเหล่านี้ยังนำความท้าทายมากมายมาให้แก่เกษตรกรเวียดนาม โดยเฉพาะความท้าทายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เพราะว่า เมื่อเข้าร่วมตลาดโลก เกษตรกรเวียดนามต้องเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการผลิตและการเชื่อมโยง โดยต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อมุ่งสู่การผลิตสินค้าจำนวนมากและเพิ่มคุณภาพให้แก่สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานการเกษตรได้วิเคราะห์ว่า ภาคการเกษตรคือหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อข้อตกลงเอฟทีเอฉบับใหม่ที่เวียดนามลงนามกับหุ้นส่วนมีผลบังคับใช้ เพราะว่า ในเวลาที่ผ่านมา การผลิตสินค้าการเกษตรของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการผลิตขนาดเล็ก ที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย จึงจำเป็นต้องมีนโยบายผลักดันประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตร
หน่วยงานการเกษตรเวียดนามต้องหาทางให้เกษตรกรที่กำลังทำการเกษตรอย่างกระจัดกระจายเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ ที่มีความร่วมมือในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจำหน่าย ซึ่งถ้าหากทำได้ การผสมผสานเข้ากับกระแสโลกจะเป็น “โอกาสทอง”อย่างแท้จริงให้แก่สินค้าการเกษตรและเกษตรกรเวียดนาม.