ประเพณี “แต่งเขยเข้าบ้าน”ของชนเผ่าไทในเขตเขาตอนบนของเวียดนาม
(VOVWORLD)-ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูที่ต้นไม้แตกยอดออกใบ ดอกไม้นานาพันธุ์เบ่งบานรับฤดูใหม่และยังเป็นฤดูที่ชายและหญิงหลายชนเผ่ารวมทั้งเผ่าไทในพื้นที่เขตเขาภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามได้พบปะสังสรรค์ทำความรู้จักกันเพื่อหาเนื้อคู่มาแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา และในชีวิตของคู่สมรสในชุมชนเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือนั้นก็มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์คือการ “แต่งเขยเข้าบ้าน”
ลูกเขยเข้าพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของครอบครัวภรรยาเพื่อรายงานตัวก่อนการมาพำนักอย่างเป็นทางการ |
ในอดีตนั้นตามประเพณีของเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อชายและหญิงเกิดมีความรักกันและต้องการแต่งงานก้าวสู่ชีวิตคู่ ทางครอบครัวของฝ่ายชายจะต้องเตรียมสำหรับงานสู่ขอและงานหมั้นสองสามครั้งในระดับที่แตกต่างกันที่บ้านของฝ่ายหญิงถึงจะสามารถจัดพิธีแต่งงานได้ โดยงานนัดแรกแม่ของผู้ชายพร้อมผู้หญิงอีกคนที่เป็นญาติในครอบครัวจะไปเยี่ยมบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อพบปะพูดคุยศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวของฝ่ายหญิงโดยหารือกับญาติผู้หญิงของฝ่ายหญิง ในการพบปะรอบที่สองครอบครัวของฝ่ายชายจะนำกล้วยหอมและอ้อยหอมมอบเป็นของฝากเพื่อพูดคุยกับฝ่ายหญิงเรื่องการแต่งงาน รอบที่สามจะเป็นขั้นตอนของพ่อสื่อที่จะไปคุยเรื่องแต่งงานอย่างละเอียดโดยสิ่งของที่นำไปให้ฝ่ายหญิงจะมีเหล้า ข้าวเหนียว ไก่ลวก2ตัวและปลาย่าง เป็นต้นด้วยปริมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดถาดอาหารเลี้ยงแขกประมาณสองสามถาด แต่ในรอบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้หมู สำหรับการพบปะในรอบที่สี่นั้นสิ่งของที่นำไปจะต้องมีหมูและไก่เพื่อใช้ทำอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านของหญิงสาว นาย เกิ่มวุย ศิลปินสมาชิกของสมาคมวรรณศิลป์เวียดนามในอำเภอเหมื่องลา จังหวัดเซินลากล่าวว่า“ในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อไปสู่ความเห็นพ้องในขั้นตอนต่างๆ เรื่องสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายหญิงเรียกร้อง ค่าตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกสาว ระยะเวลาที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาว เป็นต้น จากนั้นครอบครัวของฝ่ายชายถึงจะเลือกวันเดือนที่ดีเพื่อจัดงานแต่งงานให้คู่บ่าวสาว”
นาย Màng Văn Đoàn ที่หมู่บ้าน Chiềng Nưa ตำบล Chăn Nưa อำเภอ Sìn Hồ จังหวัดลายโจว์ ทำหน้าที่เป็นแรงงานหลักในครอบครัวของภรรยา |
โดยในการพบปะรอบที่ 4 ครอบครัวของฝ่ายชายจะต้องหาผู้ที่เป็นแม่สื่อพ่อสื่อนำคณะผู้แทนของครอบครัวไปบ้านฝ่ายหญิงเพื่อทำพิธีกรรมทุกอย่างตามธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้คือการร้องเพลงโต้ตอบระหว่างพ่อสื่อแม่สื่อของสองครอบครัว ดังนั้นพวกเขาจึงมักเลือกผู้ที่สามารถร้องเพลงได้ดี ซึ่งการร้องเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานอาจจะยาวไปตลอดทั้งคืนโดยไม่มีใครรู้สึกเหนื่อย และตั้งแต่วันนั้นเจ้าบ่าวก็กลายเป็นสมาชิกของครอบครัวฝ่ายหญิงอย่างเป็นทางการและอยู่กับครอบครัวของเจ้าสาวเพื่อตอบแทนบุญคุณของการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูเจ้าสาวของพ่อแม่และยังเป็นการให้คู่บ่าวสาวมีเวลาทำงานเพื่อเก็บหอมรอมริบสักระยะหนึ่งก่อนที่จะออกมาสร้างเรือนหอใช้ชีวิตส่วนตัว นาย Tòng Văn Hịa ในชุมชนเชียงเงิน เมืองเซินลา จังหวัดเซินลา กล่าวว่า“สำหรับระยะเวลาที่ฝ่ายชายพำนักอาศัยที่บ้านฝ่ายหญิงหลังแต่งงานจะโดยพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนด แต่จะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีถึงสองปีหรือมากกว่านั้นในบางกรณีอาจใช้เวลา 3-5 ปีก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้สามารถพาเจ้าสาวกลับบ้านฝ่ายชาย ซึ่งการกำหนดเวลานั้นยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวเช่นหากครอบครัวของฝ่ายชายมีคนน้อยไม่มีคนทำงานก็อาจอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงแค่1ปีก็สามารถขออนุญาตพาเจ้าสาวกลับได้”
ช่วยพ่อตาทำงานบ้าน |
ในช่วงเวลาหลังแต่งงานนี้ ลูกเขยก็เป็นเหมือนสมาชิกของครอบครัวฝ่ายหญิงและทรัพย์สินสมบัติที่ทำได้ก็ถือเป็นสมบัติของครอบครัว ดังนั้นจึงมีครอบครัวที่มีคน 3-4 รุ่นได้อาศัยอยู่ร่วมกันใต้ชายคาเดียวกันอย่างมีความสุข สามารถรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของครอบครัวได้ดี คุณ Ca Thi Thinh จากหมู่บ้าน Co Puc ตำบล Chieng Ngan นคร Son La จังหวัด Son La กล่าวว่า“การใช้ชีวิตของคู่สามีภรรยาใหม่นั้นจะต้องปฏิบัติตามระเบียบประเพณีเช่น ต้องนอนดึกตื่นเช้ากว่าคนอื่น การกินอยู่และการพูดคุยต้องเรียบร้อยเป็นระเบียบ ลูกสะใภ้ต้องรู้จักทำงานบ้าน เย็บปักถักร้อยเป็น ลูกเขยนอกจากจะรู้จักทำงานหนักแล้วยังต้องรู้จักงานจักสานเพื่อทำของใช้ในบ้านอีกหลายอย่าง หากทำอย่างนั้นได้ดีจะถือว่าเป็นลูกเขยและลูกสะใภ้ที่ดีของครอบครัว”
ทั้งนี้จากการพัฒนาทางสังคมในปัจจุบัน ประเพณี“แต่งเขยเข้าบ้าน” ในชุมชนเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามไม่ใช่สิ่งบังคับแล้ว แต่ครอบครัวเผ่าไทหลายครอบครัวยังคงรักษาไว้ แต่ไม่บังคับกำหนดเวลาที่แน่นอนเหมือนแต่ก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกให้คู่หนุ่มสาวในการดำรงชีวิตที่มั่นคงและผาสุก ./.