พิธีเป่าหูเด็กทารกของชนเผ่าพื้นเมืองในเขตเตยเงวียน

(VOVWORLD) -      ในวิถีชีวิตชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเขตเตยเงวียนที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามยังคงรักษาและปฏิบัติประเพณีวัฒนธรรมต่างๆตามความเชื่อของชาวบ้าน และหนึ่งในนั้นคือประเพณีการจัดพิธีเป่าหูทารกในช่วงอายุ 1 ถึง 3 เดือนหลังจากมีการตั้งชื่อแล้ว  ซึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อถ่ายทอดความปรารถนาและความคาดหวังให้ถึงเทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อประทานพรและปกป้องคุ้มครองให้เด็กเติบโตแข็งแรงเป็นคนดี.
พิธีเป่าหูเด็กทารกของชนเผ่าพื้นเมืองในเขตเตยเงวียน - ảnh 1ถาดเซ่นไหว้ในพิธี

ประเพณีเป่าหูเด็กทารกเป็นหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญที่สุดของชุมชนชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อาศัยในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อก้าวสู่ระยะใหม่ของการเติบโต เป็นการรายงานต่อเทพเจ้าและบรรพบุรุษให้รับทราบว่า ครอบครัวและชุมชนได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ดร.บุ่ยหงอกกวาง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนาม เผยว่า "ในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ต่างมีพิธีเป่าหูทารกด้วยความเชื่อว่าเด็กทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ขวบและยังไม่สามารถพูดได้ ก็เสมือนเป็นเพียงสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ถ้าจะเป็นสมาชิกของชุมชนอย่างแท้จริงก็จะต้องซึมซับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน โดยแต่ละคนแต่ละครอบครัวและชุมชนจะมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น พิธีเป่าหูสำหรับสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวก็เป็นงานของทั้งชุมชนเพราะนับจากนี้ไปเด็กคนนี้ก็จะได้เป็นสมาชิกของชุมชนแล้ว"    

นายดินห์ เปอ ลี หัวหน้าชุมชนเผ่าบานาในหมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าเวียดนามเผยว่า เพื่อเตรียมให้แก่การประกอบพิธีเป่าหู  ครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่จะเริ่มเตรียมเครื่องบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ เช่น หมู ไก่ ขนม ผลไม้ เป็นต้น ถ้าครอบครัวมีฐานะดีก็ล้มวัวควายเพิ่มอีกตัว นอกจากนั้น ต้องมีการตั้งต้นเสาตุงเล็กๆ ที่ทำจากไม้ไผ่ภายในบ้านใกล้กับแท่นบูชาของครอบครัวโดยมีประดับกิ่งก้านและวาดลวดลายบนลำต้น เพื่อเป็นการเชิญเทพเจ้าและบรรพบุรุษมาร่วมพิธี เมื่อถึงเวลากำหนดเจ้าของบ้านที่มีเด็กเกิดใหม่จะเชิญคนมาทำพิธีซึ่งอาจจะเป็นหมอผี หมอตำแย ประจำหมู่บ้านหรืออาจจะเป็นพ่อแม่ของเด็กก็ได้

โดยปกติพิธีเป่าหูเด็กทารกจะจัดขึ้นในช่วงบ่าย แต่การเตรียมงานเริ่มตั้งแต่เช้าซึ่งจะเชิญหมอตำแยและสมาชิกในครอบครัวมารับประทานอาหารกลางวันก่อนดำเนินพิธี โดยจะมีการถวายเครื่องบูชาแด่เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ต่อจากนั้นหมอตำแยจะใช้ท่อไม้ไผ่ยาวประมาณ 30 ซม. เป่าหูขวาก่อนแล้วจึงเป่าหูซ้าย โดยหมอตำแยจะเป่าเบาๆและกล่าวคำอวยพรให้กับเด็ก เมื่อหมอตำแยอวยพรแล้วก็ถึงคิวพ่อแม่ของเด็กเป่าอวยพรและสุดท้ายคือญาติมิตรกับเพื่อนบ้าน ถ้าเด็กผู้หญิงทุกคนก็อวยพรให้โตเป็นสาวงามและทำอาหารเก่ง สำหรับเด็กผู้ชายก็ต้องแข็งแรงล่าสัตว์เก่งและรู้จักถืออาวุธปกป้องชาวบ้าน หลังจากให้พรแก่เด็กแล้ว ผู้ดำเนินพิธีจะนำเหล้ามาแตะที่ปากและหน้าผากของเด็กซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดพิธีและทุกคนก็เริ่มรับประทานอาหาร ดื่ม เต้นรำ และร้องเพลง ผู้ที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีสามารถนำของขวัญมาให้เพื่อแสดงความยินดีกับเจ้าของบ้าน ดร.บุ่ยหงอกกวาง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนาม เผยว่า   "ชาวบ้านมักจะเลือกวันฤกษ์ดีเพื่อจัดพิธีเป่าหูทารก โดยผู้ดำเนินงานจะรายงานบอกกับ Giang หรือเทพเจ้าว่า วันนี้ครอบครัวและชุมชนจัดพิธีเป่าหูให้กับเด็กน้อยเพื่อขอพร จากนั้นพ่อแม่และคนรอบข้างก็ร่วมขอพรด้วย โดยถือว่าเป็นการต้อนรับเด็กสู่ชุมชน พูดคุยกับเด็กให้รับรู้ถึงสิ่งดีๆ  ประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การผลิตและถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กับเด็ก"      

ตามความเชื่อของชนกลุ่มน้อยในที่ราบสูงเตยเงวียน ความรู้ความฉลาดของมนุษย์อยู่ที่หู ดังนั้นเมื่อเด็กทุกคนเกิดมาจะต้องทำพิธีเป่าหูเพื่อรับปัญญา รับความรู้ หลังจากทำพิธีเป่าหูได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ แม่ของเด็กจะอุ้มลูกไปรับของขวัญที่บ้านญาติๆ ซึ่งของขวัญสำหรับเด็กมักเป็นจอบ เส้นลูกปัด หรือกำฝ้าย เส้นด้ายที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีมูลค่าไม่มาก แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ด้วยความหวังว่าเด็กจะมีสุขภาพแข็งแรงและมีชีวิตที่สมบูรณ์และมีความสุขในอนาคต./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด