ประเพณีการบูชาควายของชนเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
Tòng Anh;Thu Hằng -  
(VOVWORLD) -สำหรับคนชนเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งในวิถีชีวิต เพราะควายไม่เพียงแต่ถูกใช้เพื่อทำไร่ทำนาเท่านั้น แต่ยังเป็นทรัพย์สินของครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นเพื่อแสดงความสำคัญของควายต่อชุมชน ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือได้มีประเพณีการเซ่นไหว้ควายเพื่อขอบคุณเหล่าปศุสัตว์หลังฤดูทำนา
ควายเป็นสัตว์ที่สำคัญในชีวิต เป็นทรัพย์สินที่มีค่าของครอบครัว |
ในตำนานของคนเผ่าไท ควายเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันธุ์กับมนุษย์อย่างแน่นแฟ้นเพราะเมื่อครั้งที่สวรรค์ได้ส่งมนุษย์ลงมาสู่โลก ก็มีควายตามมาด้วยและข้ามผ่านประตู “ด๊านแก้วเอือง” ("Đán kẹo ưởng") ดังนั้นชาวบ้านจึงถือว่าควายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และมักใช้ควายเป็นเครื่องสังเวยเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์ของสะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าเพื่อขอประทานพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ชีวิตมีความสงบสุข
ในอดีตชาวบ้านมักใช้ควายขาวดำเพื่อเซ่นไหว้บูชาเทพแห่งสายน้ำและเทพแห่งขุนเขา นายกา วัน ชุง ผู้รอบรู้ด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าไท สมาชิกสมาคมวรรณศิลป์พื้นบ้านเวียดนาม ที่ตำบลเจียงเหงิ่น เมืองเซินลา จังหวัดเซินลา กล่าวว่า “ควายยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบสองนักษัตรนับแทนเวลาในปฏิทินของชนเผ่าไท เป็นสัตว์ตัวแรกของวันใหม่ หลังเที่ยงคืนเป็นชั่วโมงของหนู ในชุมชนเมื่อมีคนเสียชีวิต ชาวบ้านก็ฆ่าควายเพื่อทำอาหารเซ่นไหว้และส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วิญญาณควายจะติดตามวิญญาณของคนที่เสียชีวิตไปสวรรค์เพื่อเป็นทรัพย์สินและเป็นเครื่องมือทำการผลิตในการใช้ชีวิตอยู่บนสวรรค์”
ในอดีตชุมชนเผ่าไทในเทือกเขาภาคตะวันตกเฉียงเหนือมักปล่อยควายของตนในทุ่งหญ้าที่กำหนดที่เรียกว่า "ปุงไคว” เพื่อไม่ให้ควายทำลายพืชผลของประชาชน เมื่อถึงเวลาต้องใช้งานควายก็จะไปจูงมาเพื่อไถ ลากไม้มาสร้างบ้าน ดังนั้นสำหรับประชาชน ควายเป็นสัตว์ที่สำคัญในชีวิต เป็นทรัพย์สินที่มีค่าของครอบครัว
เมื่อก่อนชาวบ้านทำนาเพียงฤดูเดียว ดังนั้น ในตอนเช้าควายมีหน้าที่ไถนา ช่วงบ่าย เด็กๆก็จูงควายไปเลี้ยง แม้ว่าจะใช้กำลังควายเพียงไม่มาก แต่ชาวบ้านก็ยังคิดว่ามนุษย์ใช้งานควายมากเกินไป ดังนั้น ทุกปีหลังเสร็จฤดูปลูกพืชผลแล้ว ชาวบ้านจึงจัดงาน “ปานห์คูนควาย” หรือเซ่นไหว้ควาย ในวันเวลามงคลด้วยความหมายคือ สวดมนต์ขอพรให้ควายได้กินหญ้าในป่าอิ่มท้องและปลอดภัยจากเสือโคร่งและสัตว์ร้ายในป่า คุณเกิ่มวุย ช่างฝีมือ สมาชิกของ สมาคมวรรณศิลป์พื้นบ้านเวียดนาม อ.เหมื่องลา จ.เซินลา กล่าวว่า“หลังจากเสร็จงานปลูกข้าวไถนา ก่อนปล่อยควายเข้าป่า ชาวบ้านจะถวายเครื่องสักการะเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณควาย โดยทำกันทุกบ้านเพื่อขอบคุณควายที่ช่วยคนทำนาเพื่อมีข้าวกิน เมื่อปล่อยควายเข้าป่าไปกินหญ้า หวังว่าควายจะไม่ถูกเสือกินหรือไม่ตกเหว เมื่อถึงฤดูไถนาต่อไปจะกลับไปช่วยเจ้าของบ้านทำนาทำไร่ต่อไป”
สำหรับการบูชาควายนั้นก็ไม่ต้องเตรียมสิ่งของอะไรมากมาย แค่มีไก่ลวกหนึ่งตัว แกงหนึ่งถ้วย เหล้าหนึ่งแก้ว ข้าวเหนียวหนึ่งจานและเครื่องหมากพลู เจ้าของบ้านเตรียมถาดเซ่นไหว้เสร็จก็นำถาดไปวางที่พื้นและวางไว้ตรงกลางฝูงควาย ส่วนผู้ดำเนินพิธีก็นั่งอยู่ข้างๆเพื่อทำขั้นตอนต่างๆ เสร็จพิธีก็จะฉีกเนื้อไก่จิ้มเกลือเล็กน้อย คลุกข้าวเหนียวหนึ่งกำมือ ห่อด้วยใบตอง พร้อมหญ้าอ่อนหนึ่งกำมือเอาให้ควายแต่ละตัวกิน แล้วเทเหล้าลงบนหัวควาย
สังคมยิ่งวันยิ่งพัฒนา เกษตรกรหลายท้องถิ่นได้นำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตแทนและควาย แต่ควายก็ยังคงเป็นสัตว์ที่ช่วยสร้างฐานะให้แก่หลายครอบครัว ดังนั้นชุมชนเผ่าไท จึงยังคงรักษาประเพณีการบูชาควายเอาไว้ แม้ประเพณีการบูชาควายถูกมองว่าเป็นไปตามอุดมคติ แต่รูปแบบการปฏิบัติมีความเรียบง่าย จึงยังได้รับการอนุรักษ์เป็นประเพณีอันดีงามที่แสดงถึงความเมตตากรุณาและความเป็นมนุษย์อันลึกซึ้งของชุมชนเผ่าไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม.
Tòng Anh;Thu Hằng