กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนมุมมองจากชุดกวีมหากาพย์ของชนเผ่าเซอดังดร้า

(VOVWORLD) - กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน โดยเฉพาะกวีมหากาพย์ชนเผ่าเซอดังดร้าล้วนสะท้อนภาพลักษณ์ของยุคสมัย รวมทั้งวิถีชีวิตและการต่อสู้เพื่อเป้าหมายแห่งความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงและมีชีวิตชีวาของประชาชนชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน ซึ่งถือเป็นบทเพลงแห่งวีรกรรมที่เพิ่มความหลายหลายให้แก่คุณค่าวัฒนธรรม จิตใจของประชาชนชนเผ่าต่างๆของเวียดนาม
กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนมุมมองจากชุดกวีมหากาพย์ของชนเผ่าเซอดังดร้า - ảnh 1ขนบธรรมเนียมประเพณี ของชนเผ่าเซอร์ดังดร้าถูกระบุในกวีมหากาพย์ (dangcongsan.vn)

กวีมหากาพย์ชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนรวมกว่า 200 ชุดได้รับการสะสม จดบันทึกและเรียบเรียงเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกหลายร้อยชุดที่ยังไม่ได้รับการจดบันทึกเอาไว้ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการวรรณกรรมพื้นเมือง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและสามารถเปรียบเสมือนตำนานเทพนิยายกรีก นอกเหนือจากบทกวีมหากาพย์ที่กล่าวถึงบุคคลที่โดดเด่นที่มีหลายพันประโยค เช่น “ดัมซาน”ที่มีกว่า 2 พันประโยค และ “คิงยู้”ที่มีกว่า 5 พันประโยค ก็ยังมีกวีมหากาพย์แบบผสมที่เป็นการเชื่อมโยงของประมาณ 100 ผลงาน เช่น บทกวีมหากาพย์ “โอดเยอรง”ของชนเผ่าเมอนง กวีมหากาพย์ชุด“ยง”ของชนเผ่าบานาและ”ดัมดวง”ของชนเผ่าเซอดัง ซึ่งถูกประเมินว่า เป็นกวีมหากาพย์ที่มีประโยคมากที่สุด สามารถเปรียบเทียบได้กับกวีมหากาพย์ของประเทศต่างๆ เช่น รามเกียรติ์ ของอินเดียและ กาเลวาลา ของฟินแลนด์

กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆของชนเผ่าต่างๆและสะท้อนภาพรวมของยุคสมัย ส่วนตัวละครที่เป็นวีรชนได้รับการสร้างสรรค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นตัวแทนของชนเผ่าต่างๆเพื่อสื่อถึงความปรารถนาของชาวบ้านดังนั้นจึงมีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง มีความกล้าหาญ มีทักษะพิเศษในการต่อสู้และมีความเป็นผู้นำประชาชนในการจัดตั้งเขตชุมชนใหม่และพัฒนาเขตชุมชนให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ศิลปินอาจาร์ อาศัยที่เพอไลโดน เขตกวางจุง เมืองกอนตุมให้ข้อสังเกตว่า“สำหรับการสร้างสรรค์ตัวละครกวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆมีเป้าหมายเหมือนกัน แต่เรื่องราวและการตั้งชื่อตัวละครมีความแตกต่างกัน เช่น ชนเผ่าบานาเรียกว่า ยวง ในขณะที่ชนเผ่าเซอดังเรียกว่า ดวง ส่วนชนเผ่าเซอดังดร้ากลับเรียกว่า เดีย”

กวีมหากาพย์ของเตยเงวียนมีความแตกต่างกับกวีมหากาพย์ของชาติอื่นๆ เช่น มหากาพย์ อิเลียด โอดิสซีย์ รามเกียรติ์ และกาเลวาลาที่เห็นเฉพาะในหนังสือ หรือ ถูกแปรไปตามรูปแบบศิลปะการแสดงต่างๆเพราะกวีมหากาพย์เตยเงวียนยังคงได้รับการอนุรักษ์ตามต้นฉบับเพื่อแสดงในกิจกรรมต่างๆในเขตชุมชน อีกทั้งได้รับการสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง มีการปรับปรุงในเชิงสร้างสรรค์และสมบูรณ์ ส่วนมหากาพย์ อิเลียด โอดิสซีย์ รามเกียรติ์ และกาเลวาลา แม้จะได้รับการแสดงในรูปแบบต่างๆ แต่เนื้อหากลับมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับรูปแบบของการแสดง  ทั้งนี้ สามารถยืนยันได้ว่า กวีมหากาพย์เตยเงวียนยังคงมีพลังชีวิตในชุมชน รองศาสตราจารย์ดร.หวอกวางจ่อง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนาม ได้เผยว่า“กวีมหากาพย์เมอนงบรรยายแบบคำกลอนเป็นหลัก ส่วนกวีมหากาพย์ของชนเผ่าบานาและชนเผ่าเซอดังใช้ทั้งคำกลอนและประโยคแบบเขียนเรียงความ ดังนั้นปัญหาในปัจจุบันคือยังไม่มีผู้ที่มีทักษะความสามารถในการแปลประโยคต่างๆให้เป็นคำกลอนได้ทั้งหมด หากมีแต่การเรียบเรียงสรุปใจความเท่านั้น ซึ่งทำให้คุณค่าของกวีมหากาพย์ลดลงบางส่วน หวังว่า ในอนาคตข้างหน้า จะมีผู้ที่มีทักษะความสามารถทั้งด้านภาษาชนเผ่าต่างๆและวัฒนธรรมเพื่อสามารถแปลประโยคต่างๆให้เป็นคำกลอนเหมือนศิลปินขับกวีมหากาพย์ชนเผ่าบานาและเซอดัง”

กวีมหากาพย์ถือเป็นกระจกส่องสะท้อนวิถีชีวิตในทุกด้านของชนเผ่าต่างๆในสมัยก่อนและสื่อถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของชนเผ่านั้นๆเกี่ยวกับชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง การเชิดชูความรัก ความฉลาดและความกล้าหาญของมนุษย์ในการรับมือความท้าทายจากทั้งธรรมชาติและการต่อสู้กับความชั่วร้าย ทั้งนี้และทั้งนั้น สามารถยืนยันได้ว่า กวีมหากาพย์ของชนเผ่าต่างๆในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนถือเป็นบทเพลงแห่งวีรกรรมอันเกรียงไกรที่มีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่คุณค่าวัฒนธรรมและชีวิตจิตใจของชนเผ่าต่างๆของเวียดนามที่มีเกียรติประวัติแห่งการสร้างสรรค์ พิทักษ์รักษาประเทศ การต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญเพื่อความอยู่รอดและการพัฒนาในตลอดหลายพันปี.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด