กลุ่มชาติพันธุ์ หมะ ในเวียดนาม
(VOVWORLD) -
ในจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ 54 กลุ่มของเวียดนาม เผ่าหมะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรประมาณกว่า 40,000 คน อาศัยใน 34 นครและจังหวัดในประเทศ แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดเลิมด่ง และด่งนาย จนถึงปัจจุบันชาวเผ่าหมะยังคงประกอบอาชีพทำนาทำไร่ จึงยังสามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีและวัฒนธรรมความเชื่อของเผ่าตนได้เป็นอย่างดี
เหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในเขตที่ราบสูงเติยเงวียน ชาวหมะอาศัยร่วมกันเป็นหมู่บ้านเรียกว่า บอน เมื่อก่อนแต่ละบอนจะมีบ้านยาว 5-10 หลัง บ้านยาวนี้เป็นบ้านใต้ถุนสูงที่มีความยาวเป็นพิเศษเพราะเป็นที่อาศัยของครอบครัวใหญ่หรือหลายครอบครัวเล็กที่เป็นญาติกัน บ้านยาวแต่ละหลังจะมียุ้งข้าวและครัวของตนเอง แต่ชีวิตปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้บ้านยาวเหลือน้อยลง ถูกแทนที่ด้วยบ้านใต้ถุนสูงหลังเล็กสำหรับครอบครัวเดี่ยว เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในที่ราบสูงเติย เงวียน เผ่าหมะมี
ชนเผ่าหมะในเวียดนาม |
เอกลักษณ์เฉพาะเผ่า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดในชุดแต่งกายที่ทำจากผ้าลวดลายพื้นเมือง ตามประเพณีดั้งเดิมเด็กหญิงเผ่าหมะเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี จะเริ่มเรียนการทอผ้าจากยายและแม่ เพื่อได้ผ้าพื้นเมืองที่สวยงามผืนหนึ่ง คนเผ่าหมะต้องทำหลายขั้นตอนตั้งแต่ปลูฝ้าย สาวเส้นฝ้าย ย้อมสี ขึงเส้นในกี่ทอผ้าแล้วถึงจะเริ่มการทอ ด้วยกี่ทอผ้าที่ทำจากไม้และไม้ไผ่อย่างเรียบง่าย กะทัดรัด คนเผ่าหมะสามารถสร้างสรรค์ผ้าพื้นเมืองที่ลวดลายดูมีชีวิตชีวาและสีสันสดใส ลายในผ้าพื้นเมืองจะเป็นลายเอกลักษณ์ของเผ่าหมาะ เช่น ต้นไม้ นก สัตว์ บ้านใต้ถุนสูง ปัจจุบันนี้แม้เส้นด้ายแบบอุตสาหกรรมได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายแต่ชาวเผ่าหมะยังคงรักษาวิธีการปลูกฝ้าย สาวเส้นฝ้าย ย้อมสี และทอลายแบบดั้งเดิมที่รับการสืบทอดจากปู่ย่าตายาย นางกา ทวา คนเผ่าหมะ ที่บอนหยะ หงิก ตำบลหลก เจิว อำเภอเมืองบ๋าว หลก จังหวัดเลิมด่ง เล่าว่า “ดิฉันเริ่มเรียนการทอผ้าพื้นเมืองจากแม่ตั้งแต่เรียนชั้น ป.4 ปัจจุบันนี้ก็ทำเป็นแทบทุกขั้นตอนแล้ว แต่อะไรที่ยากซับซ้อนก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เฒ่าผู้แก่ งานทอผ้าพื้นเมืองนี้เราจะละเลยทอดทิ้งไม่ได้ ต้องสืบทอดอาชีพและรักษาวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนเอาไว้”
ความหลากหลายของสีและลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชุดพื้นเมืองเผ่าหมะ สร้างความแตกต่างของผ้าพื้นเมืองเผ่าหมะกับผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในเวียดนาม ชาวเผ่าหมะประกอบอาชีพเกษตรกร และเชื่อว่าการที่ผลผลิตจากไร่นาจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหยาง (หรือฟ้า) และเทพเจ้าแห่งข้าว เทพเจ้าแห่งป่า เทพเจ้าแห่งน้ำ และเทพเจ้าบ่อน้ำกำหนดมาให้ จากความเชื่อนี้ทำให้เกิดประเพณีและพิธีกรรมทางความเชื่อคือ พิธีเซ่นไหว้เพื่อขอบคุณเทพเจ้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า ชาวหมะจัดพิธีเหล่านี้เพื่อขอบคุณเทพเจ้าและขอให้ดินฟ้าอากาศอุดมสมบูรณ์ ขอให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงและทำนาได้ผลผลิตที่ดี พิธีเซ่นไหว้ขอบคุณเทพเจ้าแห่งข้าวได้ใช้เวลาเตรียมเป็นเดือน ปักและตกแต่ง เกิย เน็ว คล้ายเสาตุง ทำบ้านหลังเล็กจากไม้ไผ่ และเตรียมฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นไหว้ นายเหงวียน ดั๊ก หลก นักวิจัยวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ที่เลิมด่ง เผยว่า“ของไหว้ต้องมี แพะ ไก่ เป็ด และเหล้าไห ตามความเชื่อของคนเผ่าหมาะ แพะเป็นสัตว์ตัวแทนของป่า เป็ดเป็นตัวแทนของน้ำ ไก่เป็นตัวแทนของชีวิตประจำวัน ประกอบเป็นของไหว้ 3 อย่างที่ขาดไม่ได้ในพิธีไหว้ของเผ่า หมะ”
|
ชาวเผ่าหมะมีศิลปวัฒนธรรมด้านวรรณคดีที่หลากหลาย เช่นมีตำนาน เรื่องเล่าและเพลงประจำเผ่าเรียกชื่อว่า “ตาม เบิ้ด” เครื่องดนตรีประจำเผ่าคือชุดฆ้องสัมฤทธิไม่มีปุ่ม 6 อัน และเล่นประสานกับกลองปิดด้วยหนังควาย โดยใช้เสียงกลองเป็นเสียงจับจังหวะและเสียงรัวปิดท้าย ผู้ชายเผ่าหมะมักจะเป่าแคน ปี่ และเขาควาย กิจกรรมทางวัฒนธรรมจะต้องมีเครื่องดนตรีประกอบ อย่างฆ้อง กลอง แคน เป็นต้น และศิลปะการตีฆ้องมีความหมายสำคัญพิเศษในชีวิตจิตใจของคนเผ่าหมะ ตามความเชื่อของคนเผ่าหมะสมัยก่อน ฆ้องก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกับมนุษย์ มีเวลาสุข มีเวลาทุกข์ไม่ต่างจากคนเรา
เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ปัจจุบันนี้ ประเพณีหลายอย่างของเผ่าหมะได้เลือนหายไปด้วยหลายสาเหตุ เมื่อก่อน ชาวเผ่าหมะเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์จึงมีประเพณีและพิธีไหว้ตามฤดูและตามรอบชีวิตคน ปัจจุบันหลายคนไม่เชื่อแบบนี้แล้วจึงทำให้ประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่างหายไป แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเผ่าหมะได้รับความใส่ใจจากสำนักงานวัฒนธรรมของจังหวัดต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะประเพณีและอาชีพดั้งเดิม ในจังหวัดที่มีเผ่าหมะอาศัยอยู่จะดำเนินโครงการ “อนุรักษ์ประเพณี ลวดลาย ฆ้องและเครื่องดนตรีพื้นเมือง” ช่วยให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าได้รับการฟื้นฟูรักษาอย่างดี.