พงศาวดาร บานา เอกลักษณ์แห่งชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนชาวเตยเงวียน

(VOVWORLD) -ชนเผ่าบานาก็เหมือนกับชนเผ่าอื่นๆที่อาศัยในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนซึ่งต่างก็มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์รวมทั้งศิลปะการแต่งและขับเสภาพงศาวดารหรือในภาษาพื้นบ้านเรียกว่า เฮออามอน ซึ่งเป็นผลงานด้านวัฒนธรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ของชุมชน เป็นสายใยที่เชื่อมระหว่างอดีตและปัจจุบัน ระหว่างมนุษย์กับบรรพบุรุษ  สะท้อนความปรารถนาของประชาชาติเกี่ยวกับชีวิตที่สันติสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความรัก ความเมตตาและความกล้าหาญของมนุษย์ต่อความท้าทายจากธรรมชาติและในการต่อสู้กับความชั่วร้าย
พงศาวดาร บานา เอกลักษณ์แห่งชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนชาวเตยเงวียน - ảnh 1การขับเสภาพงศาวดาร(Photo: Internet) 

ก็เหมือนกับพงศาวดารของชนเผ่าต่างๆในเขตเตยเงวียน อย่างชนเผ่าเอเดและยาลาย พงศาวดารของชนเผ่าบานาเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ได้รับการสืบทอดแบบเล่าขานผ่านการแสดงการขับเสภาพงศาวดารเพื่อบรรยายเกี่ยวกับภาพรวมของชีวิตสังคมในอดีต

ตามความเห็นของศ. โตหงอกแทง นายกสมาคมวัฒนธรรมศิลปะพื้นเมืองเวียดนาม พงศาวดารของชาวบานาถูกค้นพบและได้รับการวิจัยค้นคว้าเมื่อปี1980 “พวกเราทราบเกี่ยวกับพงศาวดารของชาวบานาเมื่อปี1980 ส่วนก่อนหน้านั้นมีแต่การเล่าเรื่องสั้นๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาวเอเดมิใช่การร้องแบบกวี ซึ่งพงศาวดารชุดแรกที่เราพบนั้นชื่อว่า ดามนอย ซึ่งเป็นเรื่องราวของวีรชนเผ่าบานาในอดีต

ศ.โตหงอกแทงเผยว่า พงศาวดารของชาวบานาสะท้อนวิถีชีวิตตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์เริ่มบุกเบิกสร้างชุมชนของชาวบานาที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด การอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติและชีวิตสังคมเช่น การปรากฎของดินฟ้าและมนุษย์ การต่อสู้ระหว่างกลุ่มมนุษย์ต่างๆ ความดีต้องชนะความชั่วร้าย ซึ่งสำหรับพงศาวดาร ดามนอย นั้นได้สะท้อนเรื่องราวชีวิตการเคลื่อนไหวของวีรชนชื่อว่านอย พงศาวดารนี้มีเนื้อหาสะท้อนเรื่องความดีชนะความชั่ว การต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน นอยเป็นวีรชนของชาวบานาที่ช่วยขับไล่ผู้ที่มารุกรานและนำความผาสุกมาให้แก่ชาวบ้าน

พงศาวดารของชาวบานามักจะแบ่งเป็นหลายบทแต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ที่ใช้คำศัพท์ลีลาที่สะท้อนจินตนาการของมนุษย์ พืชพันธุ์และสัตว์ป่า และมีลีลาคำร้องอย่างเสนาะหู บรรดาศิลปินชาวบานาสามารถเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การพัฒนาและบุคคลดีเด่นมีบทบาทสำคัญของชุมชนชาวบานา  ที่น่าสนใจในการขับเสภาพงศาวดารคือมักจะจัดขึ้นยามราตรี โดยผู้ฟังจะนั่งล้อมวงรอบเตาไฟกลางบ้านโรง คนเล่าและคนฟังจะไม่มีการสนทนากัน บางทีคนฟังไม่เห็นหน้าคนเล่าเรื่องก็มี ศ.โตหงอกแทงเผยว่าคนร้องไม่ต้องแสดงอิริยาบทใดๆ เพียงแค่นั่งหรือนอนแล้วขับเสภาในความมืด ซึ่งสร้างบรรยากาศเหมือนได้กลับสู่อดีต เพราะเรื่องราวทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องในอดีตและเมื่อเล่าเรื่องนี้ก็เสมือนคนในเรื่องที่จะปรากฎขึ้นแต่ไม่สามารถมองเห็นได้ คนฟังก็ไม่ต้องมองคนเล่าหากฟังเรื่องแล้วจินตนาการเอาเอง นี่คือความเป็นศิลปะของพงศาวดารบานา

ปกติแล้วการขับเสภาพงศาวดารเรื่องหนึ่งเล่า3คืนถึงจะจบและต้องเล่าต่อเนื่องกันไม่หยุดเพราะพวกเขาเชื่อกันว่า บรรพบุรุษกำลังกลับมาร่วมงานกับลูกหลานในคำร้องของพงศาวดาร ดังนั้นผู้ที่มาฟังการขับเสภานั้นมิใช่เพื่อฟังเรื่องประวัติศาสตร์เพราะพวกเขารู้จักแล้วหากเป็นการเข้าร่วมการสนทนากับดวงวิญญาณของบรรพชน ได้ฟังคำสอนและประสบการณ์จากบรรพชนเพื่อการดำเนินชีวิตที่อิ่มหนำและผาสุก

ในสังคมที่ทันสมัยปัจจุบัน พงศาวดารบานายังคงปรากฎในชีวิตชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านชีวิตวัฒนธรรม จิตใจและการบันเทิงของชาวบานา ช่วยสร้างบรรยากาศที่หล่อเลี้ยงจิตสำนึกเกี่ยวกับชนชาติและความสามัคคีเชื่อมโยงในชุมชน และเมื่อเดือนเมษายนปี2017 พงศาวดารของชาวบานาได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของชาติ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด