“ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี๙๐ ” กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน
Bui Hang – VOV5 -  
( VOVworld ) - ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามกับสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ซึ่งเป็นช่องสำหรับชนกลุ่มน้อยของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเวียดนามได้เปิดห้องจัดแสดงและฉายภาพยนตร์ “ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙๐ ” โดยจัดแสดงสิ่งของวัตถุที่เด็กๆเกิดในช่วงปี ๙๐ ของศตวรรษที่ ๒๐ สะสม ซึ่งได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความฝันของเด็กเหล่านี้
( VOVworld ) - ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามกับสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ซึ่งเป็นช่องสำหรับชนกลุ่มน้อยของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเวียดนามได้เปิดห้องจัดแสดงและฉายภาพยนตร์ “ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙๐ ” โดยจัดแสดงสิ่งของวัตถุที่เด็กๆเกิดในช่วงปี ๙๐ ของศตวรรษที่ ๒๐ สะสม ซึ่งได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความฝันของเด็กเหล่านี้
|
คณะจังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙ ( อินเตอร์เน็ต )
|
ที่ท่านกำลังรับฟังอยู่ขณะนี้คือจังหวะบรรเลงฆ้องประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าบานาโดยการแสดงของคณะบรรเลงฆ้องและรำซวางหมู่บ้านกอนตุม เกอเปิง ตำบลทั้งเหลย เมืองกอนตุม ซึ่งมีเด็กทั้งหมด ๒๑ คน คนที่มีอายุมากที่สุดของทีมคือ ๑๖ ปีเป็นหัวหน้าคณะ ส่วนที่เหลือมีอายุตั้งแต่ ๑๒ – ๑๔ ขวบ พวกเขานอกจากเรียนหนังสือและช่วยพ่อแม่ทำการผลิตแล้วก็ยังฝึกรำซวางและบรรเลงฆ้อง โดยได้รับการถ่ายทอดวิธีทำฆ้องและบรรเลงฆ้องให้ตรงจังหวะและไพเราะด้วย
ชีวิตประจำวันของเด็กที่หมู่บ้านกอนตุม เกอเปิงได้สะท้อนจากสิ่งของวัตถุที่จัดแสดง ณ ที่นี่อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นกระบุงชาวเขา ฆ้อง เสื้อผ้าลวดลายสีสดสวยฉุดฉาด เสาตุงและบ้านโรงซึ่งคล้ายกับบ้านยกพื้นเรือนไม้ของไทย อีกทั้งยังเป็นการย้อนอดีตกลับสู่ชีวิตประจำวันของชนเผ่าบานาไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าพื้นเมือง การผลิต การปลูกพืชผักต่างๆและงานเทศกาลประเพณี คุณเหงวียนเฟืองถ่าว เจ้าหน้าที่วิจัยของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาเวียดนามเผยว่า “ สิ่งของวัตถุเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่เด็กใช้ในครอบครัวหรือทำไร่ทำนา รวมทั้งภาพชีวิตประจำวันของพวกเขาในการทำไร่ทำนาหรือการจักสานเข่งและทอผ้าโดยพวกเขาถ่ายเอง วัตถุสิ่งของแต่ละชิ้นจะผูกพันกับเรื่องราวต่างๆโดยเด็กเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ได้ถูกบันทึกลงในหนังสือเพื่อบริการผู้เข้าชม ”
|
สาวชนเผ่าบรรเลงฆ้องและรำในโอกาสเปิดบ้านโรงใหม่( อินเตอร์เน็ต ) |
ภาพยนตร์ ๓๐ นาทีโดยการเล่าเรื่องของเด็กชนเผ่าบานาได้สะท้อนจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกของเด็กในคณะฆ้องรุ่นปี ๙๐ ซึ่งแต่ละคนจะมีฐานะที่แตกต่างกัน บ้างกำพร้าพ่อและบ้างกำพร้าแม่แต่บนใบหน้าของพวกเขายังแสดงให้เห็นความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ความไร้เดียงสาและความบริสุทธิของวันใส ซึ่งสะท้อนในภาพเด็กเล่นน้ำในลำธารหรือทำไร่ทำนา คุณเหงวียนถิ่เหยี่ยวเหงวี่ยน ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ เผยว่า “ ภาพยนตร์ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙๐ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลงไหลของเด็กในเครื่องดนตรีฆ้อง การฝึกบรรเลงฆ้องและความฝันของพวกเขาที่มีต่อฆ้อง ภาพยนตร์ยังเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ความเป็นเพื่อนของเด็กๆในคณะ ซึ่งพวกเขาได้แสดงความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาของตนอย่างสบาย”
การฝึกรำซวางและบรรเลงฆ้องทุกวันของเด็กได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมในชุมชน ซึ่งก็เป็นสาส์นที่ลึกซึ้งที่เด็กๆหมู่บ้านกอนตุม เกอเปิงฝากไว้ในภาพยนตร์ “ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙๐” คุณเหวี่ยนเผยต่อไปว่า นี่เป็นการบรรยายผ่านภาพยนตร์แทนการพูดว่า แม้ชีวิตของเด็กเหล่านี้ยังยากจนแต่พวกเขาก็ยังหลงไหลฆ้อง ดังนั้น ต้องอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองให้แก่ชนรุ่นหลังเพื่อเผยแพร่ให้กับเพื่อนมิตรทั่วโลกได้รับทราบ
|
คณะบรรเลงฆ้องและรำซวางในวันเปิดงาน( อินเตอร์เน็ต )
|
กิจกรรมจัดแสดงและฉายภาพยนตร์ “ จังหวะบรรเลงฆ้องของเด็กรุ่นปี ๙๐” อยู่ในกรอบของโครงการ “ การประชาสัมพันธ์ผ่านชุมชนในเวียดนามกับเรื่องเล่าโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แสดง ” โดยกองทุนฟอร์ดสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งจากเรื่องเล่าโดยเด็กของหมู่บ้านกอนตุม เกอเปิงเล่าเองจะทำให้ผู้ชมได้เข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการส่งสาส์นเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละคนในชุมชนในการอนุรักษ์วัฒนธรรมเหล่านี้ให้ชนรุ่นหลัง ./.
Bui Hang – VOV5