สถานประกอบการเวียดนามใช้โอกาสจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
(VOVWORLD) -ถึงแม้ปี 2020 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 แต่ก็เป็นโอกาสให้สถานประกอบการหาทางพัฒนาเพื่อยังคงมีส่วนร่วมในตลาดและกระบวนการพัฒนาประเทศและผสมผสานเข้ากับกระแสโลก นี่เป็นเหตุผลที่ช่วยให้อัตราการขยายตัวของเวียดนามเป็นบวกท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
การท่องเที่ยวรับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 |
ปี 2020 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนามได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยข้อมูลสถิติของสมาคมการท่องเที่ยวเวียดนามปรากฎว่า ในปี 2020 รายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนามลดลงประมาณ 2 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 80 นักท่องเที่ยวภายในประเทศลดลงร้อยละ 50 ส่วนแรงงานในภาคนี้ต้องตกงานหรือหยุดทำงานมากถึงร้อยละ 90 โรงแรมหลายแห่งต้องปิดให้บริการ เป็นต้น ในสภาวการณ์ดังกล่าว สถานประกอบการท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนแนวทางหันไปเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยปฏิบัติหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 นาย เลแองด๋าย รองนายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดลาวกายแสดงความคิดเห็นว่า “จากความต้องการของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เราตระหนักว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในจัดทำผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ในเวลาที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลองแต่เราก็ใช้ช่วงเวลานี้เพื่อประเมินตนเองและสร้างสรรค์ความสามัคคีระหว่างสถานประกอบการภายในสมาคมเพื่อฟันฝ่าอุปสรรค”
ส่วนนาง เหงียนกิมแอง ผู้อำนวยการโรงแรมบิ่งแองได้เผยว่า ในปี 2020 บริษัทของเธอมีรายได้ลดลงร้อยละ 70-80 แต่ในช่วงที่ยากลำบากนั้น ทางบริษัทได้ปฏิบัติยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น “เราปฏิบัติแผนการต่างๆ เช่น ผลักดันการโฆษณาหรือเชิญนักท่องเที่ยวมาพักฟรีเพื่อให้พวกเขาช่วยประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ต่อไปหรือมอบของที่ระลึกเพื่อสร้างความประทับใจเพื่อให้พวกเขากลับมาใช้บริการอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่า ถึงขณะนี้ เราได้ประสบผลต่างๆที่น่ายินดีในการดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ”
นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สถานประกอบการส่งออกต่างๆก็ประสบอุปสรรคในขณะที่หลายประเทศต้องปิดประเทศเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ใบสั่งซื้อต่างๆและกระแสเงินได้ถูกระงับส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งไม่สามารถพัฒนาได้ โดยเฉพาะสถานประกอบการสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อปี 2019 มูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของตลาดโลกอยู่ที่ 7 แสน 7 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปี 2020 การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ได้ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าของปี 2020 บรรลุ 6 แสน - 6 แสน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 15-20 นายเทินดึ๊กเหวียด ผู้อำนวยการใหญ่เครือบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าหมายเลข 10 ได้เผยว่า เพื่อรับมืออุปสรรคต่างๆจากการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ทางเครือบริษัทฯได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตมานานไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง ซึ่งช่วยให้ทางบริษัทฯ คงอยู่ได้และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ถึงแม้ไม่มีการขยายตัวแต่รายได้ของบริษัทจากตลาดภายในประเทศยังไม่ลดลง ดังนั้น ในปี 2021 นี้ จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศอีกร้อยละ 20-30
ในตลาดเกษตร นาง เหงียนถิบ๋าวเหี่ยน ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่เครือบริษัทเหี่ยนเลได้เผยว่า ในปี 2021 ทางบริษัทฯ จะก่อสร้างโรงงานใหม่ ขยายการผลิต การประกอบธุรกิจและการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ
"ในปี 2021 ทางบริษัทพิจารณาการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าโรงงานปัจจุบันถึง 7 เท่าและดึงดูดแหล่งพลังต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมการเกษตร หวังว่า ถึงปลายปี 2022 เราจะมีโรงงานใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่"
ส่วนนาย หวูเตี๊ยนหลก ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ประเมินว่า ปี 2020 เต็มไปด้วยความผันผวน แต่เป็นปีที่ช่วยให้ชมรมสถานประกอบการตระหนักได้ดีเกี่ยวกับความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มแข็งและแนวทางการพัฒนาบริษัทอย่างยั่งยืน ซึ่งสถานประกอบการที่สามารถกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้วิกฤตโควิด -19 ก็สามารถอยู่รอดและใช้โอกาสนี้เพื่อพัฒนา"ชมรมสถานประกอบการมีความปรารถนาว่า รัฐบาลจะประสานงานกับประชาคมโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ให้ได้ภายในปี 2021 นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับสถานประกอบการในการกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจในปี 2021 และปีต่อๆไป เพราะว่า เพื่อให้สถานประกอบการสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีระบบนิเวศที่เหมาะสม รัฐบาลควรมีระบบนโยบายที่มีเสถียรภาพ โปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้แก่สถานประกอบการ"
ในสภาวการณ์ใหม่ เพื่อสามารถพัฒนาในปี 2021 และปีต่อๆไป สถานประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงใหม่และยกระดับคุณภาพของสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยในเวลาข้างหน้าสถานประกอบการต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างก้าวกระโดดในการผลิตและมีห่วงโซ่อุปทานเป็นของตัวเอง เพราะว่า ในสภาวการณ์ที่ตลาดมีการผันผวนที่ยากจะคาดเดาได้ ใครมีห่วงโซ่อุปทานเองก็จะสามารถอยู่รอดได้ ควบคู่กันนั้น จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพของแรงงานเวียดนามเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด.