บ่อน้ำในภาพถ่ายของช่างภาพ เลบิ๊ก
Hằng, Tuấn -  
(VOVWORLD) - ในเขตชนบทเวียดนาม หมู่บ้านส่วนใหญ่มีบ่อน้ำอย่างน้อย 1 แห่ง บ่อน้ำคือส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของหมู่บ้าน ควบคู่กับ “ต้นไทร ท่าน้ำ ศาลาประจำหมู่บ้าน” ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้านบ่อน้ำไม่เพียงแต่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตคนในหมู่บ้านเท่านั้น หากยังมีความหมายทางจิตวิญญาณที่ได้สร้างวัฒนธรรมให้แก่หมู่บ้านอีกด้วย ต่อไปนี้ ขอเชิญท่านผู้ฟังศึกษาค้นคว้าความสำคัญของบ่อน้ำในเขตชนบทกับช่างภาพ เลบิ๊ก ผู้ที่ได้เดินทางไปศึกษาค้นคว้าตามหมู่บ้านต่างๆเกือบ 200 แห่งและถ่ายภาพบ่อน้ำโบราณ 300 แห่งในทั่วประเทศ
ช่างภาพ เลบิ๊ก เกิดเมื่อปี 1972 ในกรุงฮานอย (qpvn.vn) |
ช่างภาพ เลบิ๊ก เกิดเมื่อปี 1972 ในกรุงฮานอย เขามักจะถ่ายภาพเกี่ยวกับหมู่บ้านศิลปาชีพ และ ทุ่มเทให้แก่การศึกษาค้นคว้าหมู่บ้านทุกแห่งในภาคเหนือเพื่อถ่ายภาพเกี่ยวกับอาชีพพื้นเมืองและสดุดีช่างศิลป์ฝีมือดีของหมู่บ้าน ในการเดินทางเหล่านี้ เขาได้พบเจอบ่อน้ำที่สวยงามและเห็นว่า บ่อน้ำเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีรูปทรงเป็นวงกลมเท่านั้น หากยังมีรูปทรงสี่เลี่ยม รูปครึ่งวงกลม รูปแปดเหลี่ยมและรูปไข่ เป็นต้น มีบ่อน้ำที่กว้างเหมือนสระน้ำเล็กๆ รอบๆบ่อน้ำมีการก่อปากบ่อน้ำด้วยอิฐหินหรือศิลาแลง และมีบ่อน้ำที่ไม่เพียงแต่เอาไว้สำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หากยังเป็นสถานที่เพื่อพบปะสังสรรค์และพูดคุยเล่าเรื่องของชาวบ้านอีกด้วย สำหรับบ่อน้ำพิเศษ ชาวบ้านใช้น้ำเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าประจำหมู่บ้าน “สำหรับคนวัยกลางคน พวกเขาเห็นว่า บ่อน้ำมีคุณค่าทางจิตวิญญาณ เช่นบ่อน้ำเป็นจุดศูนย์รวมของน้ำและโชคลาภของหมู่บ้าน เป็นจุดบรรจบของฟ้าดิน เมื่อก่อนตอนขาดแคลนน้ำ ถ้าน้ำในบ่อมีอยู่ก็เปรียบเสมือนน้ำนำโชค ดังนั้นการแบ่งปันโชคลาภต้องมีความยุติธรรม ทุกคนสามารถมาเอาน้ำได้ ส่วนสำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เมื่อคิดถึงบ่อน้ำก็หมายความว่า คิดถึงหมู่บ้าน บรรพบุรุษและความทรงจำในตอนเป็นเด็ก”
ช่างภาพ เลบิ๊ก รักหมู่บ้านชนบทที่มีภาพ ต้นไทร บ่อน้ำและศาลาประจำหมู่บ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมหมู่บ้านเวียดนาม โดยบ่อน้ำได้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดมิได้ในวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม ดังนั้น เขาได้ตั้งเป้าหมายคือถ่ายภาพบ่อน้ำสะท้อนการดำรงชีวิตในชุมชน และเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบ่อน้ำ “มีบ่อน้ำแห่งหนึ่งในกรุงฮานอยคือบ่อน้ำของหมู่บ้าน หย่าน ซึ่งปัจจุบันคือหมู่บ้าน แก๊วดิ่งห์ ในแขวงซวนดิ๋ง นักวิชาการหลายคนเผยว่า ที่หมู่บ้านมีชนเผ่าจามอาศัยเป็นจำนวนมาก เมื่อผมเดินทางไปหมู่บ้านในช่วงงานเทศกาลเดือนอ้ายตามจันทรคติก็มีความประทับใจมาก มีการจัดพิธีกรรมที่บ่อน้ำ พิธีแห่มีการฟ้อนรำต่างๆ รวมทั้งการฟ้อนรำโบราณ มีชาวบ้านนับร้อยคนมาเข้าร่วมงานที่บ่อน้ำ ผู้สูงอายุใช้กากต้นหมากเพื่อเอาน้ำหลังจากทำพิธีเสร็จ และนำน้ำใส่ถังเก็บน้ำ ชายหนุ่ม 2 คนแห่น้ำไปรอบๆหมู่บ้าน พร้อมการรำเกี้ยวพาราสีจากบ่อน้ำไปยังศาลาประจำหมู่บ้าน ชายหนุ่มวิ่งเร็วมากและแวะบ้านหลายหลัง ชาวบ้านรอคอยพวกเขาแวะมาเยือนบ้านของตน เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นว่า น้ำของเทพเจ้าประจำหมู่บ้านจะนำโชคลาภมาให้”
บ่อน้ำในหมู่บ้าน เดื่องเลิม |
ช่างภาพ เลบิ๊ก ถ่ายภาพบ่อน้ำตั้งแต่ปี 2010 เขาได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเกือบ 200 แห่งและถ่ายภาพบ่อน้ำโบราณ 300 แห่งในทั่วประเทศตั้งแต่หมู่บ้านในเขตเขาไปจนถึงเขตริมฝั่งทะเล สิ่งที่ดึงดูดใจช่างภาพเลบิ๊กมากที่สุดคือคุณค่าด้านจิตวิญญาณของบ่อน้ำโบราณซึ่งถ้าหากยิ่งศึกษาค้นคว้าก็ยิ่งมีความหลงใหลต่อความงามที่ซ่อนอยู่ “บ่อน้ำมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ใน 5 ปีแรก ผมวิจัยบ่อน้ำในภาคเหนืออย่างเดียว ซึ่งเป็นบ่อน้ำดิน แต่เมื่อเดินทางไปยังภาคกลาง ความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับบ่อน้ำก็มีความแตกต่างกัน น้ำไม่ต้องขุดจากใต้ดิน หากไหลลงมาจากภูเขา มีบ่อน้ำแห่งหนึ่งใน ยอลิงห์ ยออาน จังหวัดกว๋างจิ ที่พวกเขาจัดเรียงแผ่นหินเป็นบ่อน้ำและมีเอกลักษณ์เกี่ยวกับวรรณะโดยสำหรับน้ำในชั้นสูงสุด ชาวบ้านไม่สามารถใช้ได้เพราะใช้สำหรับการบูชาเทพเจ้าเท่านั้น โดยชาวบ้านจะใช้น้ำที่ไหลลงมาในชั้นที่ 2 และน้ำในชั้นที่ 3 เด็กๆสามารถใช้อาบหรือให้วัวควายดื่ม จากนั้นน้ำจะไหลลงสู่ระบบรางน้ำและทุ่งนา”
บ่อน้ำในอำเภอ เถื่องติ๊น กรุงฮานอย |
ถ่ายภาพบ่อน้ำ ช่างภาพ เลบิ๊ก ต้องวางแผนเป็นอย่างดี “สำหรับสถานที่หลายแห่งที่ผมไป ผมเห็นว่า มีบ่อน้ำที่ถูกหลงลืม ไม่ได้รับความสนใจ บ่อน้ำบางแห่งถูกถมเพื่อสร้างถนน แต่ก็มีสถานที่บางแห่งที่จัดคนมาเฝ้าบ่อน้ำ ในค่ำวันที่ 15 หรือวันที่ 1 ตามจันทรคติ ชาวบ้านจะมาจุดธูปที่บ่อน้ำ จริงๆแล้วชาวเวียดนามยังคงให้ความเคารพบ่อน้ำของหมู่บ้าน”
การถ่ายภาพบ่อน้ำของช่างภาพ เลบิ๊ก มีความประสงค์ทำให้คนทั่วไปทราบว่า มีบ่อน้ำที่เคยคงอยู่และปัจจุบัน กำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการรักษาและพัฒนาความเชื่อและวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่ต่อไป./.
Hằng, Tuấn