หมู่บ้าน Dơk Rơng ในจังหวัดยาลาย ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ชนบทใหม่

(VOVWORLD) -กลุ่มครัวเรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน Dơk Rơng ตำบล Glar อำเภอ Đak Đoa จังหวัดยาลาย เป็นชาวบานาที่ตั้งรกรากอยู่อาศัยที่นี่มานานหลายปีแล้ว ที่นี่เป็นหนึ่งในหมู่บ้านดีเด่นในการปฏิบัติโครงการเป้าหมายแห่งชาติเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ โดยทางการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับชุมชนในหมู่บ้านรณรงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโฉมใหม่ให้พื้นที่ชนบทเพื่อส่งเสริมให้ตำบล Glar เป็นหนึ่งในตำบลที่บรรลุมาตรฐานชนบทใหม่ของอำเภอ Đak Đoa

หมู่บ้าน Dơk Rơng ในจังหวัดยาลาย ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ชนบทใหม่  - ảnh 1ศูนย์ชุมชนของหมู่บ้านDơk Rơng 

ถนนเข้าหมู่บ้านที่ได้ยกระดับทำเป็นถนนคอนกรีตที่สะอาดสะอ้าน รวมถึงบ้านหลังใหญ่หลายหลังที่มีลานตากเมล็ดกาแฟที่กว้างขวาง ถือเป็นภาพที่คุ้นเคยสำหรับผู้มาเยือนหมู่บ้าน Dơk Rơng ตำบล Glar อำเภอ Đak Đoa จังหวัดยาลาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิต ดังนั้น จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้สูงจึงนับวันเพิ่มมากขึ้น นางสาว Amye อาศัยในหมู่บ้าน Dơk Rơng เผยว่า

“ก่อนหน้านี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ลำบากมาก แต่หลังจากที่มีการดำเนินโครงการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ พวกเราได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการปลูกกาแฟให้มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน หลังหักเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ครอบครัวดิฉันมีรายได้จากการปลูกกาแฟอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านด่งต่อปี นอกจากนี้ ดิฉันก็ได้สร้างบ้านหลังใหม่โดยใช้เงิน 700 ล้านด่งให้ครอบครัว เมื่อไม่นานมานี้”

นอกจากประกอบอาชีพปลูกกาแฟแล้ว ชาวบ้านในหมู่บ้าน Dơk Rơng ยังทำการปลูกข้าวนาดำในพื้นที่มากกว่า 50 เฮกตาร์ ซึ่งเก็บเกี่ยว 2 ครั้งต่อปี ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านที่นี่ประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นอย่างมากเนื่องจากไม่มีถนนเข้าออกนา โดยต้องขนกระสอบข้าวจากนาขึ้นรถจักรยานยนต์เพื่อนำกลับบ้าน ซึ่งหลังจากมีการสร้างถนนเข้านาเมื่อปี 2019 แล้ว เกษตรกรสามารถนำรถแทรกเตอร์เข้าไปถึงที่นาได้ นาย Uê อาศัยในหมู่บ้าน Dơk Rơng ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดิน 100 ตารางเมตรเพื่อสร้างถนน เผยว่า

“เมื่อก่อนถนนแคบมาก ทำให้การเดินทางลำบาก แต่หลังจากที่หมู่บ้านและตำบลมีนโยบายขยายถนน ครอบครัวผมก็รู้สึกยินดีและเต็มใจบริจาคที่ดินเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ส่วนผมและชาวบ้านที่นี่ก็ได้มีการประชุมหารือและเห็นพ้องกันว่าทุกครัวเรือนจะบริจาคที่ดินสำหรับการขยายถนนเพื่อให้ชาวบ้านสามารถขนส่งสินค้าเกษตรได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ครอบครัวผมมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 4 ไร่ ซึ่งการขนส่งข้าวจากนาก็จะง่ายขึ้นกว่าเดิม”

หมู่บ้าน Dơk Rơng ในจังหวัดยาลาย ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ชนบทใหม่  - ảnh 2ประชาชนหมู่บ้าน Dơk Rơng มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน 

นาย A Miên หัวหน้าหมู่บ้าน Dơk Rơng เล่าว่า เมื่อปี 2013 ชาวบ้านได้เสนอแนวความคิดใช้พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ซึ่งมีขนาด 1.6 เฮกตาร์ สำหรับการผลิตกาแฟ โดยมอบหมายให้ 10 กลุ่มในการดูแลพื้นที่ดังกล่าว และหลังการเก็บเกี่ยว ก็มีรายได้กว่า 200 ล้านด่ง เพื่อสมทบเข้ากองทุนสำหรับการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งในนั้นมีศูนย์ชุมชนของหมู่บ้านมูลค่ากว่า 300 ล้านด่ง นอกจากนั้น ชาวบ้านที่นี่ยังได้ระดมเงินกว่า 60 ล้านด่งสำหรับการสร้างรั้วและประตูให้แก่โรงเรียนประถมของหมู่บ้าน นาย A Miên เผยว่า ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 230 ครัวเรือน ซึ่งตอนนี้เหลือแค่เพียง 10 ครัวเรือนเท่านั้นที่มีฐานะยากจน โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 41 ล้านด่ง

“ชาวบ้านได้ช่วยกันทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นพร้อมความผาสุก ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความผันผวนอย่างซับซ้อน จากการบริจาคที่ดินสู่การสร้างถนนหนทางที่กว้างใหญ่ ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนับวันมีการพัฒนาให้ดีขึ้นและผู้คนก็สามัคคีกันมากขึ้น”

ด้วยแนวความคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนต้องมาก่อนถึงจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองในหมู่บ้านได้ ชุมชนชาว Dơk Rơng ได้ย้ำเตือนถึงความสามัคคีกันพร้อมความตั้งใจในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการตั้งกลุ่มสนับสนุนระหว่างกันในด้านเงินทุน เทคนิค รวมถึงวันทำงานสำหรับการพัฒนาการผลิต ซึ่งทุกคนเต็มใจบริจาคเงินและวันทำงานเพื่อสร้างสรรค์ชนบทใหม่ นาย บุ่ยกวางถว่าย รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบล Glar เผยว่า

“หมู่บ้าน Dơk Rơng ได้รับการรับรองเป็นหมู่บ้านที่บรรลุมาตรฐานชนบทใหม่จากคณะกรรมการประชาชนอำเภอ Đak Đoa โดยชาวบ้านที่นี่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ ซึ่งทำให้โฉมหน้าของหมู่บ้านมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีส่วนช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วย”

เมื่อชีวิตทางวัตถุและและจิตใจของประชาชนได้มีการพัฒนาอย่างมั่นคง ก็จะช่วยส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมต่างๆ ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จของเกษตรกรที่กล้าคิดกล้าทำ อีกทั้งเป็นการสร้างกำลังใจให้พวกเขาฝ่าฟันอุปสรรค์ทั้งหลายเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่อิ่มหนำผาสุกในบ้านเกิดของตนเอง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด