การพัฒนาสถานประกอบการไทยในเวียดนาม

(VOVWORLD) -   เมื่อ 20ปีก่อน สถานประกอบการไทยเริ่มเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยมีเครือบริษัทใหญ่ๆ เช่น เครือบริษัทเอสซีจีและเครือบริษัทซีพีที่นำร่องตั้งบริษัทในเวียดนาม ซึ่งในเวลาต่อมา จำนวนสถานประกอบการไทยที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในเวียดนามนับวันเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลสถิติของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงพาณิชย์ไทยระบุว่า จนถึงเดือนมกราคมปี 2017  ในเวียดนาม มีบริษัทของคนไทย 110แห่งที่กำลังประกอบธุรกิจในด้านการผลิตอุตสาหกรรม การเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและการบริการ
การพัฒนาสถานประกอบการไทยในเวียดนาม - ảnh 1บูธของ บริษัท  เอส เอส โปรดักส์ ดีไซน์ จำกัดในงานแสดงสินค้าไทย ณ กรุงฮานอยเมื่อเร็วๆนี้

            บริษัท  เอส เอส โปรดักส์ ดีไซน์ จำกัดที่ผลิตกระเป๋าสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กนักเรียนหญิง แบรนด์ มินมี่และบริษัทเบลล่า พาสโซ่ จำกัดที่ผลิตเครื่องประดับที่ทำจากหนังวัว เช่น กิ๊บติดผม ยางรัดผม และต่างหูคือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม 2 แห่งจากประเทศไทยที่เพิ่งเจาะตลาดเวียดนามได้ 3 - 5 ปี  จากการสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องหมายการค้ากระเป๋า แบรนด์ มินมี่ มาเป็นเวลา 10 ปี ปัจจุบัน บริษัท  เอส เอส โปรดักส์ ดีไซน์ จำกัดได้ส่งออกสินค้าไปยัง 10 ประเทศ ส่วนสำหรับบริษัทเบลล่า พาสโซ่ จำกัด ถึงแม้เพิ่งจัดตั้งได้ 5 ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีมาตรฐานเข้มงวด เช่น อังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และมาเลเซีย นาง อินทีนา ดาวฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทเอส เอส โปรดักส์ ดีไซน์ จำกัดและนาย สุชาติ เต็มสิทธิ์โชค ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ของบริษัทเบลล่า พาสโซ่ จำกัดได้เผยว่า

“แบรนด์ มินมี่มาเวียดนามมากกว่า ๕ปีแล้ว ตอนนี้ มีการวางขายในห้างแมโทรในนครโฮจิมินห์ ผลประกอบการในนครโฮจิมินห์ค่อนข้างน่าพอใจและเรากำลังต้องหาตัวแทนจำหน่ายที่กรุงฮานอย เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพราะคนมีกำลังซื้อ”

“เวียดนามเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงเพราะว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้จากการทำงาน ตอนนี้ ในประเทศเวียดนาม มีคนมาตั้งโรงงานเยอะ ประชาชนมีกำลังซื้อเหมือนประเทศไทยเมื่อก่อนนี้ เป็นขั้นตอนของการ take-off ยังดีอยู่”

การพัฒนาสถานประกอบการไทยในเวียดนาม - ảnh 2บูธของ บริษัท  เบลล่า พาสโซ่ จำกัด      

เวียดนามมีประชากร 90 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพไม่เพียงแต่สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างบริษัท  เอส เอส โปรดักส์ ดีไซน์ จำกัดและบริษัทเบลล่า พาสโซ่ จำกัด เท่านั้น หากยังเป็นตลาดและแหล่งจัดสรรแรงงานให้แก่บริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โดยบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ ได้จัดตั้งบริษัทศรีไทยเวียดนามจำกัดเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบัน บริษัทนี้มีโรงงาน 2 แห่งในจังหวัดบิ่งเยืองและโรงงาน 1 แห่งในจังหวัดบั๊กนิง รวมแรงงาน 500 คน นาย สมศักดิ์ โตรักษาสกุล รองผู้จัดการสินค้ากลุ่มเมลามีนของบริษัทศรีไทยเวียดนามจำกัดได้เผยว่า“เมื่อ ๑๐ปีแรก เราทำธุรกิจ plastic อย่างเดียว มันยังไปได้เรื่อยๆ ไม่ค่อยเยอะ จนมา ๑๐ปีที่หลัง เราก็ลงทุนขยายตลาดในด้านของเมลามีนและมาทำขวดนํ้าดื่มและเครื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งธุรกิจ ๓ อย่างนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นสำหรับตลาด domestic อย่างเดียว มี export บ้างเล็กน้อย ไม่เยอะ ยอดขายปีหนึ่งสามารถตกประมาณ ๒พันกว่าล้านบาท ตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่โตและมีแต่ใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน จีดีพีของเวียดนามโตขึ้น 5-6%ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ส่วนกำลังซื้อของคนเวียดนามก็ดีขึ้น สภาพความเป็นอยู่ของคนเวียดนามเดี๋ยวนี้ดีขึ้น การใช้เงินและค่าใช้จ่ายต่างๆก็เพิ่มขึ้น”

การพัฒนาสถานประกอบการไทยในเวียดนาม - ảnh 3บูธของ บริษัทศรีไทยเวียดนามจำกัด

นอกเหนือจากการที่สถานประกอบการไทยเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจและเปิดโรงงานผลิตในเวียดนามแล้ว อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้สินค้าไทยขยายส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามคือผ่านบริษัทนำเข้าของเวียดนาม นาย เหงวียนวันถาว เจ้าหน้าที่ดูแลเครือข่ายจำหน่ายสินค้าในภาคเหนือของบริษัท THT เวียดนาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าและน้ำยาฟอกผ้าขาวของไทยในเวียดนามในตลอด 10 ปีได้เผยว่า“บริษัท THT เวียดนาม จำกัดมีเครือข่ายจำหน่ายสินค้าในทั้งหมด 63 จังหวัดและนครทั่วประเทศ รวมทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น บิ๊กซี  ซุปเปอร์มาร์เก็ตลานจีและ Vin mart แต่ละเดือน เราต้องนำเข้า 40 ตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่ภาคเหนือ ส่วนในนครโฮจิมินห์ มีบริษัทรับเหมานำเข้าสินค้าจากไทยให้”

ส่วนสำหรับรัฐบาลไทย จากการเล็งเห็นถึงความต้องการเจาะและขยายตลาดเวียดนามของสถานประกอบการไทย สถานทูตไทย ณ กรุงฮานอยได้ร่วมกับบริษัทภาคเอกชนและทางการเวียดนามจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่างๆ โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้าไทยตามนครใหญ่ๆของเวียดนาม เช่น กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ นครเกิ่นเทอและนครดานัง รวม 12 ครั้งต่อปี นาย โด๊ะก๊วกฮึง รองอธิบดีกรมดูแลตลาดเอเชีย-แปซิฟิกสังกัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเวียดนามได้ประเมินผลการจัดงาน Top Thai Brands 2017 ในระหว่างวันที่ 17-20สิงหาคม ณ กรุงฮานอยว่า“งาน Top Thai Brands 2017 คือกิจกรรมส่งเสริมการค้าที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างเวียดนามกับไทย พวกเราชื่นชมสถานประกอบการกว่า 130 แห่งที่เข้าร่วมงานและมีการออกบูธ 200 บูธเพื่อแนะนำสินค้าที่มีคุณภาพต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งการจัดงานแสดงสินค้าครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดเวียดนามในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับความสนใจจากสถานประกอบการไทยและสะท้อนให้เห็นว่า สินค้าไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเวียดนาม”

จากการจัดงานแสดงสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องและความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของสถานประกอบการไทยในการเจาะตลาดเวียดนามได้มีส่วนช่วยให้คนไทยขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งสินค้าไทยในเวียดนามมากขึ้น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด