(VOVWORLD) - การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP ครั้งที่ 28 ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หรือ UAE การประชุมมีขึ้นในสภาวการณ์ที่โลกกำลังเห็นชัดถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
การประชุม COP ครั้งที่ 28 ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (REUTERS) |
ในปีนี้ โลกยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรายงานล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันเปิดการประชุม COP28 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปีนี้สูงกว่าช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงทำให้ปีนี้เป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850
ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจึงปรากฏบ่อยมากขึ้นในทุกทวีป สถานการณ์ความแห้งแล้งในยุโรปและอเมริกาใต้มีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่น้ำท่วมสร้างความเสียหายอย่างหนักในหลายประเทศในเอเชียใต้และแอฟริกา อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดไฟป่าที่มีความรุนแรงในสหรัฐ แคนาดาและยุโรปใต้ ส่วนน้ำแข็งขั้วโลกก็ละลายเร็วขึ้น ที่เนปาล พื้นที่ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยกว่า 1 ใน 3 ได้ละลายในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ได้ละลายไปร้อยละ 10 ภายในเวลาเพียง 2 ปี
ที่น่ากังวลกว่าคือ พื้นที่น้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา ละลายไปมากถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ของฝรั่งเศสและเยอรมนี เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ที่ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในแอนตาร์กติกา และมีพื้นที่ 4,000 ตารางกิโลเมตรได้เคลื่อนตัวไปทางมหาสมุทร ตามความเห็นของนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้และกำลังสร้างภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ
“สถานการณ์จริงก็เป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและเศรษฐกิจของเรา ภัยคุกคามกำลังมีอยู่และไม่มีสัญญาณที่จะดีขึ้น คำถามคือ มันจะแย่ลงหรือไม่ และเราสามารถป้องกันไม่ให้สถานการณ์แย่ลงได้ แต่เราต้องรับฟังความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ เพราะพวกเขาต่างบอกว่า สถานการณ์ได้อยู่ในภาวะเตือนภัยสีแดงแล้ว สหรัฐและโลกกำลังตกอยู่ในภาวะที่อันตราย”
ตามรายงานฉบับต่างๆที่เผยแพร่โดยสหประชาชาติก่อนการประชุม COP28 สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันคือ โลกยังไม่บรรลุความคืบหน้าที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ในรายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ “Emission Gap” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน สหประชาชาติได้ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนี้ยังคงสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 1.2 และจนถึงปี 2030 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะสูงกว่า 22 กิกะตันซึ่งตัวเลขนี้อยู่บนสมมุติฐานที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตัวเลขนี้จะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 องศาเซลเซียสในช่วงปลายศตวรรษนี้
นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (AFP) |
แก้ไขต้นเหตุ
ในสภาวการณ์ที่โลกกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุม COP28 เริ่มขึ้นด้วยข่าวที่น่ายินดีในวันแรกของการประชุม เมื่อทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงที่จะเปิดตัว “กองทุนการสูญเสียและความเสียหาย” เพื่อชดเชยแก่ประเทศที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศด้วยการสนับสนุนเบื้องต้นกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า กองทุนนี้จะระดมเงินสนับสนุนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ถึงแม้ว่าจะยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับระดับของการสนับสนุนเงินทุน แต่การอนุมัติ “กองทุนการสูญเสียและความเสียหาย” ในวันแรกของการประชุม COP28 ก็ถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น ซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถระงับข้อถกเถียงเกี่ยวกับการระดมเงินทุนได้ชั่วคราวเพื่อเน้นหารือและเจรจาเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญและยุ่งยาก 2 ประเด็นคือ การจัดทำกระบวนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน และเร่งการเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ในการประชุม COP ที่มีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้จงใจหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า โลกไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ้าเราต้องการรักษาเป้าหมายในการทำให้อุณหภูมิของโลกไม่สูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษตามที่ให้คำมั่นไว้ในข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2015 โดยสหประชาชาติระบุว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 43 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2030 ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มความมุ่งมั่นและเร่งปฏิบัติคำมั่นที่ให้ไว้เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ย้ำว่า
“ผู้นำโลกต้องมีปฏิบัติการเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษ ต้องมีปฏิบัติการเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์จากภัยพิบัติทางสภาพอากาศ และยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เราต้องมีคำมั่นในระดับโลกเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า และทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดภายในปี 2030 เราต้องมีคำมั่นที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับกระบวนการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้สอดคล้องกับเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส”
บรรดาผู้สังเกตการณ์แสดงความเห็นว่า การเจรจาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในการประชุม COP28 จะตึงเครียดและซับซ้อนมากเนื่องจากความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ระหว่างทุกฝ่าย ปัจจุบัน สหภาพยุโรปหรือ EU และอีกกว่า 10 ประเทศกำลังเป็นผู้นำกลุ่มรณรงค์จัดตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเริ่มด้วยการยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงนี้อย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐและจีนซึ่งเป็น 2 เศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดยังไม่ได้แสดงความตั้งใจที่จะเข้าร่วมพันธมิตรนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และประเทศส่งออกน้ำมันก็มีความประสงค์ที่จะเน้นหารือเกี่ยวกับการเพิ่มการลงทุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น การประชุม COP28 จะต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการออกเอกสารที่มีคำมั่นเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งหมด 197 ประเทศและสหภาพยุโรป.