การประชุมสุดยอด G20: ความสำเร็จที่ไม่สมบูรณ์

(VOVWORLD) - การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาชั้นนำและเพิ่งเกิดใหม่ของโลกหรือ G20 ปีนี้ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ณ เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ได้บรรลุความคืบหน้าที่ยิ่งใหญ่ในความพยายามเพื่อขจัดความยากจนในโลก แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมฯได้ประสบความล้มเหลวในการส่งเสริมก้าวกระโดดเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงพลังงานตามที่คาดหวังไว้ และยังคงมีการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์

การประชุมสุดยอด G20 ปีนี้ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์โลกที่มีความยุติธรรมและยั่งยืนมากขึ้น” ได้ตั้งเป้าต่อปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือ “ซีกโลกใต้” ให้ความสนใจ ประกอบด้วย ความยากจน การปฏิรูปธรรมาภิบาลระดับโลก ความยุติธรรมในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงพลังงาน

เนื้อหาที่ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆของซีกโลกใต้

ผลสำเร็จที่สำคัญที่สุดของการประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้คือการจัดตั้งสหภาพทั่วโลกเพื่อขจัดความยากจนหรือ GAAHP ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยประเทศเจ้าภาพบราซิล เพื่อระบุการต่อสู้ความยากจนระดับโลกในเนื้อหาหลักของการหารือของสถาบันพหุภาคี ถึงแม้ว่ากลไกการดำเนินงานและวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายของสหภาพนี้ยังต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ แต่การสร้างสหภาพฯที่ได้รับการสนับสนุนจาก 81 ประเทศและสถาบันระดับโลกหลายแห่ง เช่น สหภาพยุโรปหรือ EU สหภาพแอฟริกาหรือ AU  ธนาคารเพื่อการพัฒนาและกองทุนการกุศลขนาดใหญ่ เช่น กองทุน Rockerfeller และกองทุน Bill & Melinda Gates ถือเป็นนิมิตหมายที่สำคัญในการส่งเสริมการขจัดความยากจนทั่วโลกตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2030 นาย ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลประกาศว่า

 “ในฐานะประธานกลุ่ม G20 เราถือการประกาศสหภาพทั่วโลกเพื่อขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก นี่จะเป็นมรดกที่ใหญ่ที่สุดของเรา สหภาพนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความยุติธรรมเท่านั้น หากยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อสร้างโลกที่เจริญรุ่งเรืองและมีสันติภาพมากขึ้นอีกด้วย”

นอกจากผลสำเร็จในการประกาศ GAAHP แล้ว ประเทศเจ้าภาพบราซิลยังได้ระบุปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระเบียบวาระการประชุมด้วยคำมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 และการอนุมัติเอกสารพหุภาคีครั้งแรกเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ นอกจากนี้ บราซิลยังเสนอกระบวนการเพื่อให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีให้เป็นสถาบันที่ใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนประเทศในแอฟริกาให้มีเสียงพูดในการเจรจาเกี่ยวกับปัญหานี้ ในปีนี้ จากข้อเสนอของบราซิล ประเทศ G20 ยังได้อนุมัติยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือผ่านนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อรับมือความไม่สมดุลในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติงานเกี่ยวกับการมอบสิทธิให้แก่สตรีและกลุ่มปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่น่าสนใจคือ พร้อมกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G20 เช่น จีนและแอฟริกาใต้  ประเทศเจ้าภาพบราซิลได้ริเริ่มการเก็บภาษีต่อกลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนเรื่องนี้ให้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ G20 จะบังคับอภิปรายอย่างจริงจังในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า นี่จะเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆของการประชุมสุดยอด G20 ในปีหน้า ณ แอฟริกาใต้ ประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ย้ำว่า

 “ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านภาษีมีความหมายสำคัญในการลดความไม่เท่าเทียมกัน ผลการวิจัยที่จัดทำโดยกลุ่มการเงินของ G20 ได้แสดงให้เห็นว่า การเก็บภาษีความมั่งคั่งร้อยละ 2 ต่อกลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลกสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลงทุนในการรับมือความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน”

คำมั่นที่สำคัญด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน

ตามความเห็นของนาย Guilherme Casaroes ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกองทุนวิจัย Getulio Vargas ที่มีสำนักงานใหญ่ ณ เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล นักการทูตบราซิลได้เลือกหัวข้อหลักของการประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้อย่างรอบคอบ โดยหัวข้อที่ได้รับการคัดเลือกคือความยากจน สภาพภูมิอากาศและพลังงานเป็นหัวข้อที่ “เป็นกลาง” และสามารถบรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในระดับสูงระหว่างประเทศสมาชิก G20 แต่อย่างไรก็ตาม ความระมัดระวังนี้ยังทำให้การประชุมสุดยอด G20 ในเมืองรีโอเดจาเนโรไม่สามารถสร้างก้าวกระโดดเกี่ยวกับ 2 หัวข้อที่ได้รับการคาดหวังคือการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

การประชุมสุด G20 มีขึ้นประจวบกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP ครั้งที่ 29 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานในระหว่างวันที่ 11-22  พฤศจิกายน หลายคนตั้งความคาดหวังว่า การประชุมสุดยอด G20 ณ เมืองรีโอเดจาเนโร จะสามารถออกคำมั่นที่เข้มแข็งและชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนการเงินด้านสภาพภูมิอากาศหรือการจัดทำกระบวนการเพื่อขจัดเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการเจรจาที่กำลังตกเข้าสู่ภาวะชะงักงันในการประชุม COP29 แต่อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ขั้นสุดท้าย G20 ได้ย้ำแค่เพียงว่า แหล่งเงินทุนที่จำเป็นจะมาจาก “พลังทุกแหล่ง” แต่ไม่ได้ระบุว่าแหล่งพลังเหล่านี้จะมาจากไหนหรือจะได้รับการจัดสรรอย่างไร นอกจากนี้ ถึงแม้จะเรียกร้องให้ลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ G20 ก็ไม่ได้กล่าวถึงการยุติการใช้เชื้อเพลิงนี้โดยสิ้นเชิง ประธานาธิบดีบราซิล ลูลา ดา ซิลวา ได้เสนอให้ประเทศพัฒนาใน G20 เร่งผลักดันการบรรลุคำมั่นเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยเร็วภายในปี 2050 มาเป็นภายในปี 2040 หรือปี 2045 อีกทั้งจัดตั้งสภาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสังกัดสหประชาชาติ แต่ข้อเสนอทั้ง 2 ข้อนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ

ตามความเห็นของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนีโอ กูเตอร์เรส การที่ G20 ขาดปฏิบัติการที่เคร่งครัดถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เนื่องจากกลุ่มประเทศ G20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณทั่วโลก  อีกทั้ง เตือนว่า ความลังเลของ G20 จะทำให้การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำได้ยากขึ้น

“ผมขอเสนอให้ผู้นำ G20 สั่งให้บรรดารัฐมนตรีและนักเจรจาของประเทศตนพยายามบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ที่ทะเยอทะยานมากขึ้นในปีนี้ ไม่มีโอกาสสำหรับความล้มเหลว เนื่องจากความล้มเหลวจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในการเตรียมแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงในสภาวการณ์ที่เส้นตายที่ไม่สามรถย้อนกลับได้กำลังใกล้เข้ามามากขึ้น”

นอกจากนั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์คือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ภายใน G20 ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะในยูเครนและฉนวนกาซา เช่นเดียวกับการประชุมสุดยอด G20 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือปี 2022 ในอินโดนีเซียและปี 2023 ในอินเดีย ประเทศ G20 ได้มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนและฉนวนกาซาและต้องยอมรับการประนีประนอมเพื่อสามารถออกแถลงการณ์ร่วมฉบับสุดท้ายได้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด