สหภาพยุโรปและความท้าทายแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ภายหลัง 30 ปีลงนามสนธิสัญญามาสทริชต์

(VOVWORLD) - 30 ปีหลังจากที่สนธิสัญญามาสทริชต์มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนปี 1993 ซึ่งยกระดับประชาคมยุโรปเป็นสหภาพยุโรปที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก มาจนถึงปัจจุบันกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับความจำเป็นต้องปฏิรูปในทุกด้านและเด็ดขาดเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ ๆ
สหภาพยุโรปและความท้าทายแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ภายหลัง 30 ปีลงนามสนธิสัญญามาสทริชต์ - ảnh 1บรรดารัฐมนตรียุโรปลงนามสนธิสัญญามาสทริชต์เมื่อปี 1992 ( Independent)

สนธิสัญญามาสทริชต์ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปี 1992 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนปี 1993 นี่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในนิมิตหมายที่สำคัญที่สุดของกระบวนการผสมผสานของยุโรป ซึ่งริเริ่มโดยประเทศที่มีบทบาทสำคัญในทวีปนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 1950 ของศตวรรษที่ 20 ด้วยสนธิสัญญามาสทริชต์ สหภาพยุโรปได้รับการจัดตั้งแทนประชาคมยุโรป นี่คือการแปรความมุ่งมั่นของผู้นำยุโรปรุ่นก่อนๆ ให้เป็นรูปธรรม เกี่ยวกับการสร้างยุโรปให้เป็นสหภาพเศรษฐกิจ-การเมืองที่เอกภาพ ไม่ใช่แค่การแบ่งปันตลาดร่วมกันเท่านั้น

30 ปีแห่งการพัฒนาที่เป็นก้าวกระโดด

30 ปีภายหลังการก่อตั้ง สหภาพยุโรปหรือ EU ได้มีการพัฒนาอย่างข้ามขั้นในทุกด้าน โดยในช่วงเริ่มใช้สนธิสัญญามาสทริชต์ สหภาพยุโรปมีประเทศสมาชิก 12 ประเทศ   GDP อยู่ที่กว่า 6.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจุบัน จำนวนประเทศสมาชิกและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 เท่า โดยมีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ และ GDP ของกลุ่มนี้เมื่อปลายปีที่แล้วบรรลุกว่า 16.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการสำคัญๆที่สหภาพยุโรปวางไว้เมื่อ 3 ทศวรรษก่อนส่วนใหญ่ได้รับการปฏิบัติแล้ว โดยเฉพาะความฝันในการสร้างสกุลเงินยุโรปเดียวกันได้กลายเป็นความจริงเมื่อปี 2002 เมื่อเงินยูโรถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ และค่อยๆ ทดแทนสกุลเงินของประเทศต่างๆ และปัจจุบันได้กลายเป็นสกุลเงินร่วมของ 20 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และสามารถฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากต่างๆโดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะในช่วงปี 2009-2012 ไปได้ ทำให้ปัจจุบันยูโรเป็นสกุลเงินที่มั่นคงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ การใช้เงินยูโรยังช่วยส่งเสริมการค้าภายในกลุ่มและทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นกลุ่มการค้าชั้นนำของโลก ถึงแม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังคงมีการถกเถียงกันภายในกลุ่มเกี่ยวกับการได้รับประโยชน์จากเงินยูโรที่ไม่เท่าเทียมกัน

นิมิตหมายสำคัญอีกประการของสหภาพยุโรปใน3 ทศวรรษที่ผ่านมาคือการแปรแนวคิด “พลเมืองยุโรป” ให้เป็นรูปธรรม ขณะนี้ พลเมืองสหภาพยุโรปทุกคนกว่า 400 ล้านคนสามารถเดินทางทั่วสหภาพยุโรปตามข้อตกลงเชงเก้นที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1995 สามารถใช้สกุลเงินยูโรและมีสิทธิ์พำนักอาศัยและทำงานในทุกประเทศในสหภาพยุโรปเนื่องจากการปฏิรูปด้านตุลาการของกลุ่ม ซึ่งในบางประเทศในสหภาพยุโรป พลเมืองจากประเทศสหภาพยุโรปอื่นๆ ยังได้รับสิทธิ์ลงคะแนนในการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่นเดียวกับพลเมืองท้องถิ่น

ทั้งนี้ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปนับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติสนธิสัญญามาสทริชต์ก็น่าจะเป็นการขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และการเมืองของกลุ่ม โดยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีอีก 16 ประเทศได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป และถึงแม้เหตุการณ์ Brexit เมื่อปี 2016 ได้ทำให้อียูมีความวุ่นวายเป็นเวลาหลายปี แต่การได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปยังคงเป็นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่หลายสิบประเทศในยุโรปตะวันออกและคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก เนื่องจากเล็งเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้ ได้ช่วยส่งเสริมการปฏิรูปสังคมอย่างครอบคลุมและนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น โปแลนด์ ที่การขยายตัว GDP ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่านับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2004

สหภาพยุโรปและความท้าทายแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ภายหลัง 30 ปีลงนามสนธิสัญญามาสทริชต์ - ảnh 2นาย โอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (AFP)

สร้างสรรค์สหภาพยุโรปใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เสริมสร้างบทบาทเป็นขั้วอำนาจหนึ่งของโลก และยังกลายเป็นองค์กรระดับภูมิภาคตัวอย่างของโลก แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตใหญ่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุโรปในตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตหนี้สาธารณะในช่วงปี 2009-2012 วิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2015 ปัญหา Brexit เมื่อปี 2016 ไปจนถึงวิกฤตโควิด -19 ในช่วงปี 2020-2021  และล่าสุดคือ การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ทำให้ผู้นำยุโรปต้องหารืออย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการปฏิรูปสนธิสัญญาสำคัญๆของสหภาพยุโรปอย่างครอบคลุมเพื่อสร้างสหภาพยุโรปใหม่ โดยมีสถาบันและกลไกการดำเนินงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและกระทัดรัดมากขึ้น

หนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือกลไกการตัดสินใจของสหภาพยุโรป ซึ่งตามข้อกำหนดของสนธิสัญญามาสทริชต์ ที่ต่อมาได้รับการปรับปรุงในสนธิสัญญาลิสบอนเมื่อปี 2007 สหภาพยุโรปดำเนินการตามกลไกฉันทามติในประเด็นสำคัญๆ เช่น ภาษี งบประมาณและนโยบายต่างประเทศ  เป็นต้นดังนั้นประเทศสมาชิกสามารถปฏิเสธการตัดสินใจของกลุ่ม ถ้าหากมีความขัดแย้ง ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นหลายครั้งกับสหภาพยุโรปเมื่อบางประเทศคัดค้านการกำหนดโคว์ต้ารับผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2015 หรือขัดขวางการช่วยเหลือยูเครนของสหภาพยุโรป นาย โอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“การปฏิรูปต้องได้รับการปฏิบัติควบคู่กับกระบวนการตัดสินใจของอียู ผมได้ชี้แจงอย่างชัดเจนหลายครั้งว่า การธำรงกลไกฉันทามติในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ เช่น นโยบายต่างประเทศหรือนโยบายภาษีเหมือนเมื่อก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยุโรปต้องมีกลไกการตัดสินใจแบบเสียงข้างมากเพื่อสามารถค้ำประกันอธิปไตยและความสามารถในการดำเนินการของยุโรป”

นอกจากกลไกฉันทามติแล้ว การปฏิรูปโครงสร้างการกระจายอำนาจระหว่างประเทศสมาชิกในรัฐสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปก็ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ปัจจุบัน ตามสนธิสัญญาฉบับต่างๆของสหภาพยุโรป จำนวนที่นั่งของประเทศสหภาพยุโรปในรัฐสภายุโรปได้รับการจัดสรรตามจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ และแต่ละประเทศจะดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ โดยมีกรรมาธิการ 27 คน แต่อย่างไรก็ตาม กลไกนี้อาจต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจากจำนวนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น และรัฐสภายุโรปมีสมาชิกรัฐสภาได้ไม่เกิน 751 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาลิสบอน ในทำนองเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปก็ยากที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศสมาชิกใหม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากจะทำให้องค์กรยุ่งยากและไม่มีประสิทธิภาพ

จากความท้าทายเหล่านี้ สหภาพยุโรปจึงต้องปฏิรูปอย่างเบ็ดเสร็จและรอบด้าน ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ 30 ปีหลังจากที่สนธิสัญญามาสทริชต์มีผลบังคับใช้ ถึงเวลาแล้วที่สหภาพยุโรปต้องจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เพื่อสร้างสหภาพยุโรปที่มีกลไกการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับการพัฒนายุโรปที่มีความหลากหลาย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด