เศรษฐกิจโลกเผชิญกับอุปสรรคมากมาย

(VOVWORLD) - จากการได้รับผลกระทบในทางลบต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายมากมาย ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกถูกประเมินในระดับสูงและอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจต่างๆต้องปฏิบัติมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะถดถอยและฟื้นฟูการเติบโต



เศรษฐกิจโลกเผชิญกับอุปสรรคมากมาย - ảnh 1ชั้นวางของในตลาดขายของชำในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ (THX)

เมื่อวันที่ 19 เมษายน     ธนาคารโลกหรือ WB ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เติบโตทั่วโลกในปี 2022 ลงเหลือร้อยละ 3.2 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ร้อยละ 4.1 และอัตราการขยายตัวจีดีพีโลกเมื่อปี 2021 ที่ร้อยละ 5.7 ในสภาวการณ์ที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างซับซ้อน ทำให้ตัวเลขประมาณการเติบโตในปีนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล

เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง

นาง Carmen Reinhart หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกหรือ WB แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วง “ไร้เสถียรภาพเป็นพิเศษ” ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 19 เมษายน นาง Carmen Reinhart เตือนว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกกำลังเป็นไปในทางลบอย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลายคนก็แสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า กำลังมีความท้าทายที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนบวกกับปัญหาที่เกี่ยวข้องนั้นมีความรุนแรงที่สุด โดยการปะทะที่ยืดเยื้อในยูเครนและคำสั่งคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตกต่อรัสเซียได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันและอาหารพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศและภูมิภาคต่างๆทั่วโลกและไม่สามารถคาดการณ์ได้เหมือนอนาคตของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในสภาวการณ์ดังกล่าว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระล็อกใหม่ ได้ทำให้จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับสองของโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งทำให้การผลิตตกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน สิ่งนี้สร้างแรงกดดันไม่เพียงแต่ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น หากยังรวมถึงห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอีกด้วยเนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกชั้นนำของโลก แต่เรื่องนี้ต้องย้ำถึงก็คือเศรษฐกิจโลกได้เผชิญแรงกดดันเป็นอย่างมากก่อนที่จะเกิดความท้าทายเหล่านี้แล้ว โดยเพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจต่างๆต้องปรับเพิ่มปริมาณเงินกู้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโต ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมหนี้สินโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตามฐานข้อมูลหนี้โลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF หนี้สินทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 คิดเป็น 256% ของจีดีพีโลกในปี 2020 ในขณะเดียวกัน รายงาน "ดัชนีหนี้สาธารณะ" ของ Janus Henderson Foundation ประเทศอังกฤษที่ประกาศเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ได้พยากรณ์ว่า ในปีนี้ หนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 71.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2021 รายงานได้ระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกมีมูลค่าถึง 65.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปี 2020 เนื่องจากการกู้เงินจำนวนมากในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจประสบอุปสรรคมากมาย เศรษฐกิจต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือและอเมริกาใต้กำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ศรีลังกาได้ประกาศผิดนัดชำระหนี้อย่างเป็นทางการ

เศรษฐกิจโลกเผชิญกับอุปสรรคมากมาย - ảnh 2นาง คาร์เมน ไรน์ฮาร์ต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (Bloomberg)

แนวทางแก้ไขและรับมือ

จากสถานการณ์ที่เป็นจริงดังกล่าว นาย David Malpass ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ธนาคารโลก "กำลังเตรียมแผนการรับมือวิกฤต" โดยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้นำของ WB จะประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการรับมือใหม่ที่จะดำเนินการเป็นเวลา 15 เดือน รวมมูลค่า 1 แสน 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนเมษายนปี 2022 ถึงเดือนมิถุนายนปี 2023 วงเงินรับมือวิกฤตนี้มากกว่าวงเงินสนับสนุน 1 แสน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ WB ใช้ก่อนหน้านี้เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้การแสวงหามาตรการรับมือความท้าทายและฟันฝ่าอุปสรรคที่เศรษฐกิจต่างๆต้องเผชิญเป็นหนึ่งในระเบียบวาระหลักในการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาและเพิ่งเกิดใหม่ของโลกหรือ G20 ที่มีขึ้นในวันที่ 20 เมษายน ส่วนหลายประเทศได้เป็นฝ่ายรุกในการปฏิบัติมาตรการต่างๆเพื่อรับมือ โดยส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของสถาบันการเงินระหว่างประเทศและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก ภายใต้ความท้าทายในปัจจุบัน ถ้าหากทุกฝ่ายไม่มีความร่วมมือกันในการออกมาตรการรับมือก็ยากที่จะเกิดประสิทธิผล โดย IMF เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างรวดเร็วสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยให้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ (DSSI) ของกลุ่ม G20 และเสนอทางเลือกเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีเงื่อนไขเพียงพอเข้าร่วม DSSI เพื่อยังคงได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระดับโลกในเวลาที่จะถึง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด