ชนเผ่าน้อยโบ๊อีอนุรักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรม

(VOVWorld)-

โบ๊อีเป็นชนเผ่าน้อยชนเผ่าหนึ่งในเวียดนามที่มีประชากรน้อยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหนิ่มเลือง  ตำบลเกวี๊ยดเตี๋ยน  อำเภอกว๋านบะในพื้นที่ภูเขาจังหวัดห่ายางแต่อัตลักษณ์ของชาวโบ๊อีนั้นมีความหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งกาย  บ้านพักอาศัย  ขนบประเพณี งานเทศกาลและเพลงพื้นเมืองเป็นต้นที่ยังคงอนุรักษ์ไว้จนทุกวันนี้


(VOVWorld)-

โบ๊อีเป็นชนเผ่าน้อยชนเผ่าหนึ่งในเวียดนามที่มีประชากรน้อยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหนิ่มเลือง  ตำบลเกวี๊ยดเตี๋ยน  อำเภอกว๋านบะในพื้นที่ภูเขาจังหวัดห่ายางแต่อัตลักษณ์ของชาวโบ๊อีนั้นมีความหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งกาย  บ้านพักอาศัย  ขนบประเพณี งานเทศกาลและเพลงพื้นเมืองเป็นต้นที่ยังคงอนุรักษ์ไว้จนทุกวันนี้

ชนเผ่าน้อยโบ๊อีอนุรักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรม - ảnh 1
นาย งู้เขยเฟือง  ผู้เชี่ยวชาญศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนเผ่าโบ๊อี


บ้านของชาวโบ๊อีเป็นบ้านโครงไม้หรือไม้ไผ่  ฝาผนังทำด้วยดินเหนียวอัด หลังคาสี่เหลี่ยมมุงกระเบื้องหรือหญ้าคา บ้านแบ่งเป็นสามห้อง  มีหน้ามุขกว้าง   มีบานประตูใหญ่เข้าบ้านตรงห้องกลาง  ข้างห้องกลางมีประตูเล็กหนึ่งบานเข้าห้องครัวและหน้าต่างสองบานของสองห้องเล็กเปิดออกทางหน้ามุข นาย งู้เขยเฟือง  ผู้เชี่ยวชาญศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนเผ่าโบ๊อีเล่าให้ฟังว่า “หลักการสร้างบ้านของชาวโบ๊อีจะเน้นที่ความกว้าง ความยาว จำนวนและความสูงของเสาบ้านต้องเป็นตัวเลขคี่  แบบสร้างทั่วไปจะเป็นบ้านสองชั้น   ชั้นล่างเป็นที่อยู่  ชั้นบนเป็นที่เก็บอาหาร”
ในขนบประเพณีแต่งงานสมัยก่อน ชาวโบ๊อีจะให้เลือกคู่ครองในชนเผ่าตนเท่านั้นแต่ปัจจุบันอนุญาติให้แต่งงานกับชนเผ่าอื่นได้  การแต่งงานจะมีสามขั้นตอน นาย งู้เขยเฟืองเล่าต่อไปว่า “ ขั้นตอนแรกการไปพูดคุยกับฝ่ายหญิงหรือเรียกว่าไป “เปิดทาง” โดยฝ่ายชายจะเลือกผู้หญิงสองคนที่ถือว่ามีดวงดีเป็นแม่ศรีเรือนและมีลูกหลานเพียบพร้อม  เป็นแม่สื่อไปทาบทามดูว่าฝ่ายหญิงจะยอมยกลูกสาวให้หรือไม่  ถ้าหากฝ่ายหญิงตกลง  ฝ่ายชายก็จะกลับไปเตรียมงานหมั้นซึ่งเป็นขั้นตอนที่สอง  โดยจะส่งพ่อสื่อสองคนไปคุยเรื่องสินสอด  เมื่อคุยกันเรียบร้อยแล้วฝ่ายชายก็จะเตรียมขันหมากไปขอหมั้นและบอกฤกษ์แต่งงาน   ขั้นตอนสุดท้ายคือพิธีแต่งงานซึ่งในวันนั้นเจ้าบ่าวจะไม่ร่วมขบวนแห่ไปรับเจ้าสาวแต่จะส่งน้องสาวจูงม้าตัวสวยไปรับ  สำหรับชาวโบ๊อีในพิธีแต่งงานไม่ว่าในสมัยก่อนหรือในสมัยนี้จะให้ความสำคัญต่อบทบาทของพ่อสื่อแม่สื่อมาก เพราะต้องเลือกคนที่มีชื่อเสียง  มีความรู้ลึกเรื่องขนบประเพณีของชนเผ่าและต้องมีความสามารถในการร้องเพลงโต้ตอบด้วย
“ในวันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องแห่ขันหมากแต่งและหมูหนึ่งตัวไปให้ฝ่ายเจ้าสาวทำอาหารเลี้ยงแขก   ส่วนบ้านเจ้าสาวจะเอาเก้าอี้ตั้งขวางประตูบ้านและวางถ้วยเหล้าสี่ถ้วยไว้รอรับ  เมื่อขบวนแห่ของเจ้าบ่าวมาถึงฝ่ายเจ้าสาวจะขอร้องให้พ่อสื่อหรือแม่สื่อร้องเพลงตอบคำถามที่ฝ่ายเจ้าสาวร้องถาม หากตอบคำถามไม่ได้ก็จะต้องดื่มเหล้าให้หมดทั้งสี่ถ้วยแล้วจึงจะเข้าบ้านได้”

ชนเผ่าน้อยโบ๊อีอนุรักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรม - ảnh 2
ชุดแต่งกายของชนเผ่าโบ๊อี

ชุดแต่งกายของชนเผ่าโบ๊อีมีความงดงามปราณีต  ผู้ชายใส่กางเกงผ้าฝ้ายหม้อฮ่อมทอด้วยมือกับเสื้อแขนสั้นคอปิดผ่าอกติดกระดุม  ส่วนชุดแต่งกายของผู้หญิงเป็นกระโปรงบานยาวสีดำปักลวดลายรอบชายกระโปรงและสวมทับข้างหน้าด้วยผ้าคาคเอวสีฟ้าเข้มยาวครึ่งตัวกระโปรงที่แต่งกับเสื้อตัวสั้นแขนยาวคอแหลมสีดำผ่าอกติดกระดุมและปักลวดลายสองข้างแถบเสื้ออย่างสวยงาม   ผู้หญิงชาวโบ๊อีจะไว้ผมยาว  การแต่งผมจะมีสองแบบคือเปียผมแล้วม้วนไว้รอบหัวหรืออีกแบบโพกด้วยผ้าปักลวดลายหลากสี   ในวันงานต่างๆนอกจากจะแต่งตัวอย่างสวยงามแล้วผู้หญิงชาวโบ๊อียังชอบใส่เครื่องประดับ เช่น กำไลคอ  สร้อยคอและกำไลมือ  นางจูถิยุง บอกว่า ที่แขนเสื้อของผู้หญิงโบ๊อีจะมีรูปกลองทองเหลืองสัญลักษณ์ของประชาชาติเวียดนามที่พิมพ์ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณไม่ตกสีและไม่หลุดเมื่อซัก
“รูปกลองทองเหลืองต้องทำการพิมพ์ไว้ก่อนและต้องกดให้แน่นเพื่อให้ขึ้นสีสวย  ส่วนกระโปรงจะปักลวดลายต่างๆให้สวยงาม  ชุดประจำชนเผ่าจะสวมใส่ในพิธีงานต่างๆ  การตัดเย็บค่อนข้างปราณีตและใช้เวลานานเป็นปี”
เพื่ออนุรักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าน้อยโบ๊อี ทางการจังหวัดห่ายางได้เปิดห้องเรียนให้เด็กรุ่นเยาว์ศึกษาเกี่ยวกับเกียรติประวัติและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าตนจากผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่สอนให้เพื่อจะได้สืบทอดให้รุ่นหลังต่อๆไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด