พิธี กินปาง เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวเผ่าค้าง

(VOVWORLD) -พิธี กินปาง (Kin pang)ของกลุ่มชาติพันธุ์ ค้าง (Khang)ที่อาศัยอยู่ในอำเภอ กวิ่งญายจังหวัดเซินลาเป็นพิธีเซ่นไหว้เพื่อแสดงความขอบคุณและความกตัญญูของบุตรบุญธรรมต่อพ่อแม่บุญธรรมของพวกเขาซึ่งก็คือหมอผี โดยพิธีกินปางนี้ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชนเผ่าค้างในเวียดนาม
 
 
พิธี กินปาง เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวเผ่าค้าง - ảnh 1การเต้นรำรอบเสาตุง

เมื่อก่อนนี้ ในชุมชนเผ่าค้างหากมีคนเจ็บป่วยแล้วไปตรวจรักษานานแต่อาการไม่ดีขึ้นครอบครัวเขาจะไปเชิญหมอผีมาทำพิธีสักการะเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยที่จะพยายามเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเข้มแข็ง หลังจากได้รับพรจากหมอผีแล้ว หากใครแข็งแรงหายป่วยก็จะไปขอบคุณและขอเป็นบุตรบุญธรรมของหมอผี ดังนั้น เมื่อหมอผียิ่งทำบุญให้คนป่วยหายดีมีสุขภาพแข็งแรงมากเท่าไหร่ก็จะมีบุตรบุญธรรมมากขึ้นเท่านั้น ในวันขึ้นปีใหม่ลูกหลานในครอบครัวและลูกบุญธรรมในหมู่บ้านต่างๆจะมารวมตัวกันที่บ้านของพ่อแม่บุญธรรมเพื่อจัดพิธี กินปาง นายหล่อ วัน บุน ผู้อาวุโสที่มีความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมของชนเผ่าค้างในอำเภอ กวิ่งญาย จังหวัด เซินลา กล่าวว่า “ก่อนเข้าพิธี ลูกหลานทุกคนจะนำข้าว หมู ไก่มาร่วมจัดถาดเซ่นไหว้ด้วยความสมัครใจ มีอะไรก็นำมาสมทบ บางคนที่เคยป่วยหนักแล้วหายดีก็อาจเอาหมูตัวใหญ่มาร่วมงาน ซึ่งพิธีนี้ก็เพื่อขอบคุณสิ่งที่พ่อแม่บุญธรรมได้ทำให้แก่ลูกและทุกคนต่างมาร่วมงานด้วยความจริงใจ ”

ก่อนเข้าพิธีกินปาง เจ้าบ้านจะฆ่าหมูทำอาหารเซ่นไหว้เพื่อแจ้งบรรพบุรุษว่าวันนี้ครอบครัวจะจัดงานกินปางและเต้นรำ จนถึงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เรียบร้อยก็จะเริ่มพิธีกรรมถวายเครื่องบูชา บุตรบุญธรรมที่มาร่วมงานจะถวายเครื่องเซ่นไหว้ที่นำมาสมทบบนถาดเพื่อรายงานบรรพบุรุษ ในเวลาเดียวกันหมอผีจะดำเนินขั้นตอนที่เรียกว่า "Xa Khuong bu" คือการจุดธูปและใช้มีดทำท่าเขียนลายสวดมนต์ที่แผ่นกระดานเพื่อเปิดการเต้นรำ ตังบู (Tăng bu) อันมีความหมายเพื่อปัดเป่าเคราะห์ร้าย และขอพรปีใหม่ที่ชีวิตจะมีความอิ่มหนำผาสุก โดยส่วนที่พิเศษและสำคัญที่สุดของพิธีกินปางคือการเต้นรำตังบูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวเผ่าค้าง อุปกรณ์สำหรับการแสดงรำตังบูต้องมีไม้กระดานเนื้อดีความหนา 10-15 ซม. กว้าง 25-30 ซม. ยาว 5-6 ม. เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการใช้กระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 1.2 ม.จิ้มลงไป ซึ่งลูกหลานต้องไปเก็บกระบอกไผ่ในป่าอย่างน้อย 100 ถึง 200 อันที่เรียกว่า บังบู นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเหล้าอุ3ไหและต้นเสาตุงที่ประดับด้วยรูปนก สัตว์ ผลไม้ เป็นต้น ตั้งอยู่ตรงกลาง  นาย หล่อวันบุน เผยอีกว่า  เมื่อพร้อมเข้าพิธีแล้ว ภรรยาของหมอผีจะเป็นคนใช้กระบอกไผ่จิ้มลงไปกระดานเป็นคนแรกเพื่อเปิดการเต้นรำ ส่วนลูกบุญธรรมที่เคยป่วยหนักที่สุดในจำนวนลูกบุญธรรมทั้งหมดจะเป็นคนรำอันดับแรกตามด้วยลูกหลานและหนุ่มสาวคนอื่นๆ โดยลูกบุญธรรมคนโตนี้จะใช้ผ้าผูกหมูที่ลวกทั้งตัวที่หน้าอกเพื่อเต้นรำกับคณะที่อาจมีมากเป็นร้อยคนได้”

พิธี กินปาง เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวเผ่าค้าง - ảnh 2การฟื้นฟูพิธีกรรม กินปาง

การเต้นรำจะยาวไปจนถึงเวลาประมาณสามทุ่ม ซึ่งเจ้าภาพจะจัดมื้ออาหารเรียกว่า " pan khảu bók mạy " เพื่อเชิญหนุ่มสาวๆและผู้คนที่มาร่วมงาน โดยในเมนูอาหารต้องมีแกงหน่อไม้ป่า ที่ทำจากยอดไผ่อ่อน หลังจากรับประทานอาหารและดื่มเหล้าอุแล้ว ทุกคนก็สนุกสนานกับการเต้นตังบูต่อทั้งคืนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น หมอผีเจ้าบ้านจะดำเนินขั้นตอนปิดงาน กินปาง ส่งดวงวิญญาณของบรรพบุรุษกลับสวรรค์  ซึ่งสิ่งที่มีความหมายอีกอย่างผ่านการจัดงานประเพณีนี้ คือหนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักกันและในจำนวนนั้นหลายคู่ได้แต่งงานกันและใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข

ด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นเหล่านี้ ทางการท้องถิ่นได้ให้ความสนใจเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อเผยแพร่ในชีวิตประจำวันต่อไป คุณ Dieu Thi Nhat หัวหน้าแผนกวัฒนธรรมอำเภอ กวิ่งญาย เผยว่า“ชนเผ่าค้างในอำเภอเป็นชนส่วนน้อย และวัฒนธรรมพื้นเมืองรวมทั้งเพลงพื้นบ้านและการระบำรำฟ้อนของพวกเขากำลังเสี่ยงที่จะสูญหายไป ดังนั้น ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องการรักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูเทศกาลนี้ รวมทั้งเพลงพื้นบ้าน การแสดงระบำรำฟ้อน และวิถีชีวิตทางสังคม  โดยเฉพาะได้ฟื้นฟูเทศกาล กินปาง ของชนเผ่าค้าง และจนถึงปัจจุบันนี้ เทศกาลนี้ก็ได้รับการเผยแพร่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง”

ในช่วงต้นปีใหม่ ชาวเผ่าค้างที่อำเภอกวิ่งญายก็ร่วมจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม กินปาง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อให้ลูกหลานของหมู่บ้านสามารถมาร่วมสังสรรค์รื่นเริงในการเต้นรำตังบูแบบดั้งเดิมและร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามนี้ให้คงอยู่ต่อไป./.   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด