ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในเวียดนาม

(VOVWORLD) -ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกหรือหุ่นไม้เป็นศิลปะพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมของชนเผ่าไต โดยมักจะแสดงในงานเทศกาลประเพณีต่างๆเช่นงานปีใหม่ งานแรกนาขวัญ เป็นต้นเพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสอธิฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์ทั้งหลายให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ชีวิตมีความสุขสบาย ตลอดจนในเนื้อหาการแสดงหุ่นยังแฝงไว้ซึ่งการเชิดชูยกย่องการศึกษาและผู้ที่มีวุฒิการศึกษา 

ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในเวียดนาม - ảnh 1การแสดงหุ่นกระบอกของหมู่บ้าน เถิมโรก ต.บิ่งห์เอียน(dantocmiennui.vn)

ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกของเผ่าไตสามารถพบเห็นได้ตามท้องถิ่นหลายแห่งแต่ที่ถือว่ามีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดคือที่หมู่บ้าน เถิมโรก ต.บิ่งห์เอียนและหมู่บ้าน รูเหงะ ต.ด่งถิงห์ อ.ดิ๋งห์ฮว้า จังหวัดท้ายเงวียน ซึ่งชุมชนเผ่าไตที่นี่ได้รักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมนี้มายาวนานกว่า200ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีตระกูลมากวางที่ยังคงอนุรักษ์สืบสานศิลปะพื้นเมืองนี้อย่างไม่เว้นช่วงมาแล้ว13รุ่น นาย มากวางแยง หัวหน้าตระกูลมากวางเผยว่า หุ่นกระบอกของเผ่าไตมีมานานหลายร้อยปีโดยเริ่มแรกเป็นชุดหุ่น6ตัว ต่อมาก็มีการขยายเพิ่มเป็น12ตัวและจนถึงปัจจุบันทั้งชุดมี33ตัว 

จุดเด่นของศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกสะท้อนจากวิธีการทำตัวหุ่น โดยวัสดุที่ใช้ทำส่วนใหญ่เป็นไม้โมกหลวง ซึ่งหาง่ายในเขตเขาและลักษณะไม้ป้องกันปลวกมดได้ดี  ตัวหุ่นส่วนใหญ่จำลองตามลักษณะของกษัตริย์ ขุนนาง เกษตรกรและสัตว์ การทำหุ่นหนึ่งตัวเฉลี่ยใช้เวลา3วันตั้งแต่การเลือกวัสดุ สร้างโครงรูป ตากแห้ง ทาสีและตัดชุดให้แก่ตังหุ่น นาย มากวางแยง เผยถึงวิธีการเลือกไม้ทำหุ่นว่า"ก่อนอื่นต้องเลือกไม้ที่เนื้อเบาแต่ทนทานดังนั้นเรามักจะเลือกไม้โมกหลวง พวกเราทำหุ่นด้วยจินตนาการและประสบการณ์โดยไม่ได้เรียนด้านศิลปะประติมากรรมมาก่อน แต่ผู้ที่ทำได้ดีก็ต้องมีฝีมือความสามารถและมีศิลปะถึงจะได้ตัวหุ่นที่ดูมีชีวิตชีวา"

ศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกของชนกลุ่มน้อยเผ่าไตในเวียดนาม - ảnh 2การแสดงหุ่นกระบอกที่หมู่บ้าน เถิมโรก ที่ยังเรียกว่าหุ่นไม้เพราะตัวหุ่นทุกตัวใช้แท่งไม้ไผ่บังคับ  

ในขณะที่ผู้ชายรับหน้าที่ควบคุมตัวหุ่น ผู้หญิงจะร้องเพลงและภาคเสียงดังนั้นบางทีคนคนเดียวต้องภาคเสียงให้แก่หุ่นหลายตัว เวทีการแสดงก็ไม่ใหญ่โตมากนัก แค่ตั้งฉากด้วยผ้าใบ เตรียมชุดหุ่น13ตัว ดนตรีประกอบก็มีพิณติ๋ง ขลุ่ยและบทร้องก็สามารถจัดการแสดงหุ่นกระบอกได้อย่างน่าสนใจแล้ว โดยเนื้อเรื่องส่วนใหญ่สะท้อนภาพวิถีชีวิตประจำวันเช่นการทำนา การปีนต้นไม้ การเก็บผักการตัดฟืน เป็นต้น นายมาคักหยุง ช่างศิลป์คนหนึ่งกล่าวว่า"ผมเข้าทีมหุ่นกระบอกมา18ปีแล้วและยิ่งนานวันก็ยิ่งรักอาชีพนี้มาก การเชิดหุ่นนั้นยากตรงที่ว่าจะต้องทำให้หุ่นเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนี้ต้องใช้เวลาฝึกเรียนหลายปี ปัจจุบันผมก็อยากให้คนรุ่นใหม่สนใจฝึกเรียนเพื่อสืบสานศิลปะพื้นบ้านนี้ของชนเผ่าให้คงอยู่ต่อไป"

ในการแสดงหุ่นนั้น ยังมีเหล่าศิลปินที่ยืนอยู่หลังฉากเพื่อตีกลองตีฆ้องและอ่านบทสนทนาภาคเสียงให้แก่รายการแสดงต่างๆ ซึ่งทำให้บรรยากาศการแสดงมีความคึกคักสนุกสนานมากขึ้น เมื่อก่อนนี้ การแสดงหุ่นแต่ละรอบมี8ฉากและต้องมีฉากปิดท้ายการแสดงที่เป็นการปีนต้นไม้จับตุ๊กแก ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สะท้อนความปรารถนาของชาวบ้านที่ต้องการให้การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ชีวิตอยู่ดีกินดีมีความผาสุกเพราะตามความเชื่อของเผ่าไตนั้น ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่สามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้แม่นยำมากช่วยมนุษย์เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอาหาศต่างๆอย่างดี และนี่ก็เป็นฉากแสดงที่ทุกคนชื่นชอบที่สุดโดยเฉพาะเด็กๆ 

การแสดงหุ่นกระบอกของชนเผ่าไตนั้นนอกจากได้ดึงดูดผู้ชมด้วยเนื้อเรื่องที่น่าสนใจมีความผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเขาแล้วยังเป็นการสะท้อนฝีมือของช่างศิลป์ในการทำหุ่นที่สามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าไตให้โดดเด่นและสมบูรณ์ที่สุด./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด