เทศกาล หน่างฮาย เอกลักษณ์ความเลื่อมไสที่โดดเด่นของชนเผ่าไตในจ.กาวบั่ง

(VOVworld)-งานเทศกาล หน่างฮาย หรือที่เรียกว่าเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์ของชาวไตในจังหวัดกาวบั่งเป็นหนึ่งในเทศกาลพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเวียดโบราณโดยเกิดจากวิถีชีวิตและการผลิตของชาวเขา



(VOVworld)-งานเทศกาล หน่างฮาย หรือที่เรียกว่าเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์ของชาวไตในจังหวัดกาวบั่งเป็นหนึ่งในเทศกาลพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเวียดโบราณโดยเกิดจากวิถีชีวิตและการผลิตของชาวเขา

เทศกาล หน่างฮาย เอกลักษณ์ความเลื่อมไสที่โดดเด่นของชนเผ่าไตในจ.กาวบั่ง - ảnh 1
ผู้นำพิธีหรือก็คือหมอผี

เทศกาลหน่างฮายของชนเผ่าไตในจังหวัดกาวบั่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนอ้ายและจัดยาวไปจนถึงกลางเดือน3ตามจันทรคติตามความเลื่อมไสของชาวบ้านที่ว่าบนพระจันทร์นั้นมีเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์พร้อมเหล่านางฟ้า12องค์ โดยทำหน้าที่คอยปกป้องดูแลการปลูกข้าวของชาวบ้านดังนั้นความหมายของการจัดงานเทศกาลหน่างฮายคือเพื่อเชิญเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์และนางฟ้าลงมาเยี่ยมหมู่บ้านและช่วยชาวบ้านพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม

งานเทศกาลแบ่งเป็น3ส่วนคือพิธีต้อนรับ พิธีเซ่นไหว้และพิธีส่ง โดยชาวบ้านต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ให้ครบทุกอย่างและจัดหิ้งบูชาในบ้านกลาง ศาลเจ้าและตั้งกระท่อมหน่างฮายไว้ที่หน้าบ้านโดยตกแต่งดอกไม้อย่างสวยงาม นางลิว ทิ มาย เลียน ชาวไตที่กาวบั่งเผยว่า“สิ่งของที่เซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางต้องเป็นเนื้อลูกหมูสด ไก่หนึ่งตัว ข้าวก่ำ ซึ่งทุกครอบครัวต้องเตรียมข้าวก่ำไว้หนึ่งถ้วย  โดยเมื่อก่อนการจัดพิธีเซ่นไหว้ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนแต่เดี๋ยวนี้รวมทุกขั้นตอนให้อยู่ในภายในเวลา3วันเท่านั้น ส่วนเรือที่จำลองไว้หมายถึงพาหนะที่นำชาวบ้านข้ามน้ำข้ามทะเลฝ่าฟันอุปสรรค”

เทศกาล หน่างฮาย เอกลักษณ์ความเลื่อมไสที่โดดเด่นของชนเผ่าไตในจ.กาวบั่ง - ảnh 2
หมอผีได้พาหน่างฮายและลูกสาว12คนมาที่ศาลเจ้าเพื่อรายงานต่อเจ้าที่เจ้าทาง

ในระหว่างการประกอบพิธี ผู้นำพิธีหรือก็คือหมอผีนั่นเองจะใส่เสื้อแดง สวมหมวกแดง มือถือพิณติ๊ง ข้อเท้าใส่พวงกระดิ่งและแสดงท่ารำต่างๆพร้อมร้องเพลงภาษาไตหน้าหิ้งบูชา ด้านหลังคือสาวน้อย14คนที่ถือพัดกระดาษ โดยสองสาวที่อยู่แถวหน้านั่งขัดสมาธิหงายมือวางบนหัวเข่าและวางพัดไว้ด้านหน้า ซึ่งตามความเชื่อของชาวไตนี่คือสองสาวบริสุทธิ์ที่เป็นตัวแทนของหน่างฮาย  ส่วน12สาวที่เหลือใส่เสื้อสีดำยืนเรียงสองแถวด้านหลัง สองข้างจะมีสตรีสูงอายุที่มีประสบการณ์และความรู้ด้านประเพณี สามารถร้องเพลงได้เพราะและครอบครัวมีความผาสุกคอยบอกขั้นตอนต่างๆในพิธีเชิญหน่างฮายให้สาวๆเหล่านี้ปฏิบัติตาม

พิธีเริ่มขึ้นด้วยการที่หมอผีอ่านบทสวดและสองสาวแถวหน้าถือพัดขึ้นมานั่งหมุนตัวเหมือนการทรงเจ้าแล้วร้องเพลงพื้นเมืองเพื่อเชิญหน่างฮายลงมา ดร.เหงวียนทิเอียน จากสถาบันวิจัยวัฒนธรรมพื้นเมืองอธิบายว่า “เทศกาลหน่างฮายมีลักษณะคล้ายเทศกาลโหล่งโต่งหรืองานแรกนาขวัญแต่ถูกจัดในรูปแบบซามานคือการเข้าทรง โดยนางฟ้า12องค์จะเข้าในร่างสาวๆ ร้องเพลงและเดินทางไปพบกับเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์เพื่อขอพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และขอพรให้ทุกคนในหมู่บ้าน”

เทศกาล หน่างฮาย เอกลักษณ์ความเลื่อมไสที่โดดเด่นของชนเผ่าไตในจ.กาวบั่ง - ảnh 3
พิธีส่งหน่างฮาย

หลังพิธีเชิญหน่างฮายที่จัดขึ้น ณ หิ้งบูชาในบ้าน หมอผีได้พาหน่างฮายและลูกสาว12คนมาที่ศาลเจ้าเพื่อรายงานต่อเจ้าที่เจ้าทางและขออนุญาตต้อนรับหน่างฮายที่เสด็จลงมาหมู่บ้าน ต่อจากนั้นสตรีสูงอายุที่ทำหน้าที่แนะนำขั้นตอนต่างๆจะนำขบวนสาวออกไปที่กระท่อมกลางแจ้งเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าแม่แห่งดวงจันทร์ด้วยการร้องเพลงเป็นภาษาไตโบราณโดยต้องร้อง3รอบหน่างฮายถึงจะรับคำเชิญลงมาประทานพรให้ชาวบ้านมีชีวิตที่อิ่มหนำและการเก็บเกี่ยวได้ผลดี

เมื่อเสร็จพิธีขอฝนขอพร ลูกสาว12คนของเจ้าแม่แห่งดวงจันทร์จะรื้อกระท่อมและร้องเพลงอำลาชาวบ้านแล้วนัดว่าปีหน้าจะกลับมาใหม่ ทั้งขบวนจะเดินทางไปที่ริมแม่น้ำเพื่อปล่อยเรือกระดาษที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังที่เข้มแข็งของหน่างฮายในการข้ามน้ำข้ามทะเลฝ่าฟันอุปสรรคพร้อมทั้งมีการฉีกพัดกระดาษและโยนข้าวให้ชาวบ้านที่ตามขบวนมาเพื่อเป็นการแบ่งปันโชคลาภให้แก่ทุกคน ซึ่งหากใครเก็บได้เยอะก็หมายความว่าปีนี้จะโชคดีมากๆ./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

พัชรพล พัชรภิญโญพงศ์

ได้เข้ามาศึกษาดูประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ แนวคิด แนวกระทำ คุณค่าของชนเผ่าไท ต้องขอขอบคุณเว็บไซต์แห่งนี้ ที่ได้เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร นี้ให้ทราบ โดยเฉพาะมีภาคภาษาไทยให้ได้ศึกษา ทำให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันจัดทำและช่วยเผยแผ่

ข่าวอื่นในหมวด