เอกลักษณ์บ้านโรงของชาวเซอดัง
Vinh Phong/VOV5 -  
(VOVWORLD) -เมื่อมาเที่ยวหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยต่างๆในเขตเตยเงวียน สิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวคือบ้านโรงหรือบ้านกลางของชุมชนที่ตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้าน ซึ่งนี่ไม่เพียงแต่เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้นหากยังเป็นสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนชาวเซอดังอีกด้วย
บ้านโรงของชนกลุ่มน้อยต่างๆในเขตเตยเงวียนรวมทั้งชาวเซอดังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมที่โดดเด่นของท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญด้านความเลื่อมใสและวัฒนธรรม เป็นโฉมหน้าของทั้งหมู่บ้าน โดยลักษณะบ้านโรงของชาวเซอดังนั้นจะเป็นบ้านไม้ยกพื้นที่มีใต้ถุนและหลังคาทรงขวานที่สูงตระหง่านกลางป่าเขา นาย อาฟ้าว ประธานคณะกรรมการบริหารต.ดั๊กอาง อ.หงอกโห่ย จ.กอนตุม เผยว่า“บ้านโรงเป็นสถานที่ชุมนุมของชาวบ้าน แม้จะเป็นงานใหญ่หรืองานเล็กต่างก็จัดที่บ้านกลางแห่งนี้ บ้านโรงเป็นผลงานการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทุกคนในการสร้าง”
จุดที่ตั้งบ้านโรงในหมู่บ้านจะโดยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ตัดสินและมักจะเป็นเนินสูงที่มีพื้นที่เป็นที่โล่งกว้างใหญ่อยู่กลางหมู่บ้านเพื่อให้สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลๆ ขั้นตอนการสร้างบ้านก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดในเชิงจิตวิญญาณของชาวเซอดัง โดยผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งให้ทุกครอบครัวทราบกำหนดการสร้างบ้านโรงก่อน1ปีเพื่อให้ทุกคนเตรียมสิ่งของวัตถุต่างๆให้พร้อม ต่อจากนั้นจะจัดพิธีเซ่นไหว้ขออนุญาตจากฟ้าดินและเทพเจ้าทั้งหลาย ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นคนที่กำกับดูแลการสร้างบ้านอย่างใกล้ชิดและแบ่งหน้าที่ให้แก่ทุกกลุ่มงานและทุกครอบครัวในการสร้างและเตรียมวัสดุ
บ้านโรงของชาวเซอดังมีเสาใหญ่8-10ต้นแล้วแต่ขนาดของบ้าน โดยเสาและคานเป็นโครงสร้างหลักสำคัญที่เปรียบเสมือนโครงกระดูกของบ้านเพื่อความแข็งแรงมั่นคงของตัวบ้าน นาย อาเฟิง จากต.ดั๊กอาง อ.หงอกโห่ย จ.กอนตุมเผยว่า สำหรับชาวเผ่าเซอดัง บ้านโรงจะต้องสร้างให้สูงแบบเสียดฟ้าเพื่อเป็นจุดรวมพลังความศักดิ์สิทธิ์จากฟ้าดิน เพราะชาวเซอดังเชื่อว่าบ้านโรงคือสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกเบื้องบน เป็นจุดเชื่อมต่อให้มนุษย์แสดงความเลื่อมใสและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย“เมื่อสร้างบ้านโรง เราจะต้องหาต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นกลมเรียบ การเชื่อมส่วนต่างๆของโครงบ้านเข้ากันนั้นจะไม่ใช้ตะปูตอกยึดให้ไม้ติดกันหรือใช้เทคนิกการเข้าไม้ แต่นิยมใช้เปลือกไม้และหวายมาผูกยึดส่วนต่างๆ มีแต่ผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่ชำนาญกับเทคนิกการสร้างบ้านจึงเป็นผู้ออกแบบและชี้นำการปฏิบัติ เมื่อสร้างโครงบ้านเสร็จหน้าที่ของสตรีคือนำใบหวายมามัดกันให้เป็นแผ่นเพื่อมุงหลังคา ซึ่งบ้านโรงหนึ่งหลังจะใช้เวลาสร้างประมาณ1ดือน”
(photo bao tay ninh) |
สำหรับส่วนพื้นของบ้านโรงจะใช้ไผ่สีสุกที่ถูกตัดตามความยาวของบ้าน หลังจากนั้นจะทุบให้แตกแล้วปูพื้น ผนังบ้านทำจากแผ่นไม้ยาวเรียงกันเป็นแนวตั้งโอบล้อมระบบเสาบ้าน ประตูขึ้นบ้านหันไปที่ลานกว้าง ส่วนบันไดใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ หลังคาของบ้านมีสองชั้นมุ่งด้วยหญ้าคาหรือใบหวาย “ขนาดใหญ่เล็กของบ้านโรงขึ้นอยู่กับขนาดของหมู่บ้าน ในระหว่างการออกแบบและสร้างนั้นจะต้องทำให้ส่วนสูงและส่วนยาวของบ้านเท่ากัน เพราะนี่เป็นสถานที่บูชาอันศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตไม่มีการตั้งหิ้งบูชา หากใช้ตะกร้าวางใต้เสาใหญ่กลางบ้าน ก่อนที่จะทานอะไรก็ต้องใส่ในตะกร้าสักนิดเพื่อเป็นการรายงานต่อบรรพบุรุษ”
ภายในบ้านโรงจะมีการตกแต่งด้วยหุ่นแกะสลักไม้และภาพแกะสลักไม้ที่มีลวดลายเป็นดอกเปอลาง นกหรือรวงข้าว ใช้3สีหลักคือขาว ดำ แดงในการตกแต่งบ้าน ด้วยความเชื่อว่า สีดำช่วยไล่ผี สีขาวแสดงความซื่อสัตย์ส่วนสีแดงคือสีแห่งชัยชนะ ในบ้านโรงแต่ละหลังยังมีส่วนที่เก็บสิ่งของที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านเช่น มีด ก้อนหินหรือเขาควาย นอกจากนั้นยังมีการตั้งรูปปั้นหรือแขวนภาพของลุงโฮและธงชาติด้วย ทั้งนี้บ้านโรงไม่เพียงแต่เป็นสถานชุมนุมของทั้งหมู่บ้านเท่านั้น หากยังเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมความเลื่อมใสของชนเผ่าเซอดังในเขตเตยเงวียน./.
Vinh Phong/VOV5