(VOVWORLD) - ขลุ่ยคือเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าม้งในเขตเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม โดยชายหนุ่มชาวม้งมักจะเป่าขลุ่ยเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกกับสาวที่ตนชอบ นอกจากนี้ ชาวม้งยังเป่าขลุ่ยเพื่อผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันนอกจากช่างศิลป์อาวุโสที่อายุมากแล้ว เยาวชนชาวม้งที่หลงใหลในการทำขลุ่ยก็มีอยู่ไม่กี่คน ซึ่งรวมถึงคุณหย่างแซวกว๋าง อายุ 23ปี ชาวม้งฮวาจากเมืองบั๊กห่า จังหวัดลาวกาย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยกฎหมายฮานอย โดยการทำขลุ่ยของคุณหย่างแซวกว๋างได้ช่วยส่งเสริมและเชื่อมโยงความรักวัฒนธรรมของประชาชาติในชุมชนชาวม้ง
การตกแต่งด้วยขลุ่ยและแคนในห้อง |
ห้องที่อพาร์ทเม้นท์ของคุณหย่างแซวกว๋างและเพื่อนชาวไตอีก 3 คน ขนาดพื้นที่ 25ตารางเมตร ได้รับการตกแต่งด้วยขลุ่ยและแคนกว่า 10 เลา ขนาดตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร คุณหย่างแซวกว๋าง มีรูปร่างสันทัด ผิวขาวและผมหยิก ใส่เสื้อยืดคอกลมสีดำและกางเกงยีนทรงหลวม กำลังนั่งบนพื้นเพื่อทำขลุ่ยจากต้นไผ่ป่องยาว1 เมตร มือซ้ายถือต้นไผ่ป่อง โดยนิ้วหัวแม่มือกดลิ้นขลุ่ยที่เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ทำจากทองแดงความยาว 2 เซนติเมตร ซึ่งติดบริเวณปากนกแก้วที่ถูกเจาะไว้เพื่อบังคับเสียง มือขวาใช้กระดาษทรายขัดลิ้นขลุ่ย และทดลองเป่าขลุ่ยเพื่อฟังเสียง
"ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการขัดลิ้นขลุ่ยเพราะถ้าขัดมากเกินไปก็ทำให้ไม่สามารถบังคับเสียงได้ ต้องขัดลิ้นขลุ่ยและลองเป่า สำหรับลิ้นขลุ่ยนั้น ผมใช้เลเซอร์ตัดเพราะไม่มีเวลาทำเหมือนช่างศิลป์อาวุโสที่ใช้มีดที่มีความคมเพื่อตัดลิ้นขลุ่ย แม้จะใช้เวลามากขึ้นแต่ก็มีคุณภาพดีกว่าเพราะต้องนำทองแดงที่ใช้ตัดลิ้นขลุ่ยไปหมกในขี้เถ้าในเตาไฟตั้งแต่ 6-12 เดือนเพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น"
คุณหย่างแซวกว๋าง กำลังนั่งบนพื้นเพื่อทำขลุ่ยจากต้นไผ่ป่องยาว1 เมตร |
ความหลงใหลในการทำขลุ่ยของคุณหย่างแซวกว๋างมาจากความชื่นชอบฟังคุณปู่และพ่อเป่าขลุ่ยตั้งแต่เด็กและพยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยตอนเรียนชั้นป.5-ป.6 เขาได้เรียนการทำและเป่าขลุ่ยแนวตั้งที่ไม่มีลิ้นจากพี่ชายในหมู่บ้านเพราะสมาชิกในครอบครัวทำขลุ่ยไม่เป็น ต่อมาในช่วงไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยกฎหมายฮานอยเมื่อ 3 ปีก่อน คุณหย่างแซวกว๋างได้เริ่มเรียนการเป่าและทำขลุ่ยพื้นเมืองของชาวม้ง
"ตอนนั้น คุณหว่าย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องได้บอกว่า ผมชอบขลุ่ยจึงควรหางานที่เกี่ยวข้องกับขลุ่ยในเวลาว่าง โดยตอนเรียนชั้นปีที่หนึ่ง ผมได้ไปเจาะรูบังคับเสียงสำหรับขลุ่ยของชนเผ่าดิงห์ให้แก่ร้านขลุ่ยแห่งหนึ่งในเขตเก่าเย้ยเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้วก็เรียนรู้การทำขลุ่ยด้วยตนเอง จนถึงตอนเรียนชั้นปีที่สาม ผมหันมาเรียนการเป่าและทำขลุ่ยของชนเผ่าม้งเพราะเห็นว่า คนที่ทำขลุ่ยของชนเผ่ากิงห์มีเยอะมาก โดยได้ซื้อขลุ่ยพื้นเมืองของชาวม้งและศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเพื่อทำขลุ่ยเอง ซึ่งในตอนแรกขลุ่ยที่ทำออกมาไม่สามารถบังคับเสียงได้ แต่ผมไม่ท้อและพยายามทำจนประสบความสำเร็จ"
คุณหย่างแซวกว๋างทำขลุ่ยจากต้นไผ่ป่อง |
นอกจากวิจัยการทำขลุ่ยแล้ว คุณหย่างแซวกว๋างยังเรียนดนตรีเองผ่านทางยูทูป ซึ่งช่วยให้เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับการเป่าขลุ่ยมากขึ้น อีกทั้งสร้างพื้นฐานให้แก่การปรับปรุงขลุ่ยเพื่อให้สามารถเป่าเพลงร่วมสมัยได้ โดยมีการเจาะรูบังคับเสียงเพิ่มอีก 2 รู ส่วนขลุ่ยพื้นเมืองมีรูบังคับเสียง 6-7 รู
"การเป่าขลุ่ยพื้นเมืองให้จังหวะเป็น4 ตัวโน้ตคือ มี ฟา ลา โด เร ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวม้งได้อย่างแท้จริง ส่วนขลุ่ยที่ได้รับการปรับปรุงแล้วสามารถเป่าได้ทุกโน้ตจึงสามารถเล่นได้ทั้งเพลงพื้นเมืองของชาวม้งและเพลงร่วมสมัย ผมได้อัพโหลดคลิปวีดีโอการเป่าขลุ่ยผ่านทาง facebook ซึ่งก็มีเพื่อนชาวม้งเข้ามาถามว่า คุณซื้อขลุ่ยที่ไหน มีการสอนการเป่าขลุ่ยหรือเปล่า"
จากความนิยมและความต้องการของชมรมชาวม้งในจังหวัดเซินลา เดียนเบียน และในต่างประเทศ เช่น สหรัฐและลาว นอกจากการเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว คุณหย่างแซวกว๋างยังได้ทำขลุ่ยขายในราคาตั้งแต่ 350,000 – 500,000ด่ง หรือคิดเป็นประมาณ 450-650บาทต่อเลา คุณหลกมิงหว่าย เพื่อนร่วมห้องชาวไตจากจังหวัดกาวบั่งได้ประเมินว่า"ขลุ่ยของคุณหย่างแซวกว๋างดีมากเพราะเขาได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย นักศึกษาส่วนใหญ่จะหางานพาร์ทไทม์ทำ เช่น พนักงานเสิร์ฟ หรือล้างจานในร้านอาหารต่างๆ ส่วนคุณหย่างแซวกว๋างเป็นคนขยัน ทำงานอย่างรอบคอบและตั้งใจ ซึ่งเหมาะกับการทำขลุ่ย"
แฟนเพจ Sáo trúc Giàng Quáng |
นอกจากทำขลุ่ย คุณหย่างแซวกว๋างยังเป็นเจ้าของเพจ Sáo trúc Giàng Quángทาง Facebook เพื่อประชาสัมพันธ์ขลุ่ย โดยมีผู้ติดตามกว่า 500 คน ส่วนในรอบ 1 ปีที่่ผ่านมา คุณหย่างแซวกว๋างได้ทำและขายขลุ่ยกว่า 100 เลาให้แก่เพื่อนชาวม้งทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งการทำขลุ่ยไม่เพียงแต่ช่วยสร้างรายได้เท่านั้น หากยังมีส่วนช่วยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกับเยาวชนชาวม้งในทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งในแฟนเพจ Sáo trúc Giàng Quáng นอกจากมีคลิปวีดีโอแนะนำการเป่าขลุ่ยแล้ว ก็ยังมีภาพถ่ายสาวชาวม้งในชุดแต่งกายพื้นเมือง รวมทั้งเพลงและอาหารพื้นเมืองของชาวม้งด้วย
"ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมเล็กๆน้อยๆในการอนุรักษ์ขลุ่ยในเวียดนามเพราะเยาวชนชาวม้งที่หลงใหลในการทำขลุ่ยมีน้อยมาก ส่วนช่างศิลป์อาวุโสก็แก่แล้ว ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงไม่เป็นที่รู้จักในชุมชนชาวม้ง ส่วนการทำขลุ่ยของผมก็ได้รับการสนับสนุนจากชมรมชาวม้งเป็นอย่างมาก"
เหลือเวลาอีกไม่ถึงปีคุณหย่างแซวกว๋างก็จะเรียนจบมหาวิทยาลัยกฎหมายฮานอย โดยเขามีแผนหางานด้านกฎหมายทำและทำขลุ่ยขายต่อไป รวมทั้งจะสอนการทำขลุ่ยและมอบแฟนเพจ SáotrúcGiàngQuáng ให้แก่เยาวชนชาวม้งที่ชื่นชอบและมีความประสงค์อนุรักษ์ขลุ่ย ส่วนตัวเขาจะสนับสนุนการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมของประชาชาติอยู่เสมอ.