เข้าร่วมเทศกาล ป่นปง ยามวสันตฤดู

(VOVWORLD) - เทศกาล ป่นปง เป็นเทศกาลที่มีมาช้านาน โดยมักจะมีขึ้นในช่วงตรุษเต๊ตเมื่อวสันตฤดูเวียนมา ซึ่งสะท้อนความเลื่อมใสและเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ขาดมิได้ของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในจังหวัดแทงฮว้า

เข้าร่วมเทศกาล ป่นปง ยามวสันตฤดู  - ảnh 1เทศกาลป่นปงหรือเทศกาลดอกไม้ของชนเผ่าเหมื่องในจังหวัดแทงฮว้า (congthuong.vn)

เทศกาลป่นปงหรือเทศกาลดอกไม้ของชนเผ่าเหมื่องในจังหวัดแทงฮว้ามีขึ้นในช่วงวสันตฤดูเดือนอ้ายหรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 และเดือน 7 นาย บุ่ยห่งญี ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมืองที่ตำบล หงอกเซิน อำเภอ หงอกหลัก จังหวัดแทงฮว้ากล่าวว่า

“ในภาษาของชาวเหมื่อง “ป่น” หมายถึงเล่นและเต้นรำ “ปง” หมายถึงดอกไม้ ดังนั้น “ป่นปง” หมายถึงการเต้นรำใกล้ดอกไม้โดยมี“เอาะ ไม๊” ซึ่งมีบทบาทเหมือนหมอผีในหมู่บ้านทำหน้าที่ร้องเพลง”

เทศกาล ป่นปน แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนพิธีกรรมและส่วนการแสดง โดยผู้ดำเนินพิธีที่เรียกว่า “เอาะ ไม๊” จะอ่านบทกลอนเล่าเรื่องราวการกำเนิดของดินฟ้าและรายงานให้เทวดารับทราบเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีนี้ ซึ่งชาวบ้านได้จัดเทศกาลนี้เพื่อขอบคุณเทวดาที่ได้บรรดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านมีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุกและอัญเชิญเทวดาให้มาร่วมงานเทศกาล

หลังส่วนการจัดพิธีกรรม ก็จะมีการแสดงต่างๆ ซึ่งนอกจาก “เอาะ ไม๊” แล้ว ก็จะมีคนเต้นรำและร้องเพลงรอบๆ ต้น “บง” ด้วยอย่างน้อยอีก 6 คน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลอันกว้างใหญ่ ต้น “บง” ทำจากไม้ไผ่ ที่ตกแต่งด้วยช่อดอกไม้จากต้น “จางบาง” ทาสีเขียว สีแดง สีม่วงและสีเหลือง พร้อมกับแบบจำลองของสัตว์และเครื่องมือการเกษตร การประดับประดาต้น “บง” ให้เป็น 5 ชั้น 7 ชั้นหรือ 9 ชั้นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและประสบการณ์ของ “เอาะ ไม๊”  นาย บุ่ยวันด่ง ชาวเหมื่องในหมู่บ้านเลียนเซิน ตำบล หงอกเซิน อำเภอ หงอกหลัก จังหวัดแทงฮว้า กล่าวว่า

“เราประดับประดาต้น “บง” ด้วยสัตว์จำลองต่างๆ ที่ทำจากไม้และทาสีและผูกผ้าแพรสีต่างๆ ที่ต้น “บง” ”

เข้าร่วมเทศกาล ป่นปง ยามวสันตฤดู  - ảnh 2ผู้ดำเนินพิธีรายงานให้เทวดารับทราบเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีนี้(congthuong.vn)

แต่อย่างไรก็ตาม การทำต้น “บง” ต้องให้คนที่มีประสบการณ์ช่วยทำเพราะต้องใช้เวลาหลายวันและมีความพิถีพิถันอย่างมาก นาง ฝามถิบ๋าว ชาวเหมื่องคนหนึ่งและนาย บุ่ยวันด่งเผยต่อไปว่า

“เทศกาลนี้มักจะมีขึ้นในเดือนอ้าย แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อถึงวันงานสำคัญๆ และวันตรุษเต๊ต ก็จัดขึ้นเช่นกัน วันที่ 7 เดือนอ้าย จะตั้งต้น “บง” ที่ใจกลางของตำบลหรือประตูวัด ชาวบ้านก็มาเต้นรำ ตีฆ้องและร้องเพลงอย่างสนุกสนาน ส่วน “เอาะ ไม๊” ดูแลเรื่องการเซ่นไหว้”

“แม้เวลาผ่านพ้นไปแต่เทศกาลป่นปงก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมเอาไว้ได้ หมู่บ้านชาวเหมื่องทุกแห่งต่างจัดเทศกาลนี้แต่จัดในวันที่แตกต่างกันในช่วงตรุษเต๊ต”

การแสดงต่าง ๆ จะจัดขึ้นรอบๆ ต้น “บง” ซึ่งจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและชีวิตทางจิตใจของชาวเหมื่อง เช่น การทำเกษตร ก่อสร้างบ้าน ไล่สัตว์ร้าย ปลูกข้าว เป็นต้น โดยผู้ที่เข้าร่วมงานต่างใส่ชุดเผ่าเหมื่อง  

ข้างๆ ต้น “บง” คือโต๊ะเหล้าอุ ถาดเซ่นไหว้อาหารพื้นเมืองของชาวเหมื่องในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ข้าวเหนียว 5 สี แกง “ล้อง” และแกง “มน” เป็นต้น

เสียงกลองและเสียงฆ้องดังขึ้นในเทศกาล ป่นปง เหมือนคำเชิญชวนนักท่องเที่ยวและชาวบ้านเข้าร่วม ด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ เทศกาล ป่นปง จึงได้รับการรับรองเป็นเทศกาลวัฒนธรรมนามธรรมระดับชาติโดยกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวเมื่อปี 2017.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด