(VOVWORLD) - ชนเผ่าป่าแถนที่ตำบลเตินบั๊ก อำเภอกวางบิ่ง จังหวัดห่ายาง ต้อนรับตรุษเต๊ตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบสองตามจันทรคติ โดยทุกบ้านมีข้าวเต็มถัง หมูและไก่ตัวโตซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาของการจัดกิจกรรมต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์
พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันที่ 30 เดือนสิบสองของชนเผ่าป่าแถน |
ชนเผ่าป่าแถนมีประชากรประมาณ 10,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยที่อำเภอเจียมฮว้า จังหวัดเตวียนกวาง อำเภอบั๊กกวางและกวางบิ่ง จังหวัดห่ายาง โดยที่ตำบลเตินบั๊ก อำเภอกวางบิ่ง มีเกือบ 500 ครอบครัว รวม 3,000 คน ซึ่งชนเผ่าป่าแถนยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณีและกิจกรรมต้อนรับตรุษเต๊ต
ในช่วงปลายเดือนสิบสองตามจันทรคติ ดอกท้อและดอกพลัมได้บานสะพรั่งอย่างสวยงามทั้งที่สวนของชาวบ้านและภูเขา โดยชนเผ่าป่าแถนที่ตำบลเตินบั๊กได้จัดกิจกรรมต้อนรับตรุษเต๊ต หมอผี สิ่นวันฟอง จากหมู่บ้านมีบั๊ก ตำบลเตินบั๊ก อำเภอกวางบิ่ง ได้เผยว่า
“ชาวบ้านเตรียมเหล้า ฟืน เนื้อไก่ หมูและข้าวเหนียวสำหรับทำอาหารวันตรุษเต๊ตและขนมแบ๊งใหญ่ ส่วนไก่ลวกจะใช้เป็นของเซ่นไหว้ นอกจากนี้ ยังมีการทำของเล่นเด็ก เล่นตีลูกขนไก่และเล่นลูกข่าง”
ที่บริเวณบ้านของครอบครัวนาง ฝู่ถิเทียน มีความคึกคัดกว่าวันธรรมดา โดยตั้งแต่เช้าตรู่ สมาชิกในครอบครัวและตระกูลจากหมู่บ้านต่างๆได้มาชุมนุมกัน ฆ่าหมู ดื่มเหล้า ทำขนมแบ๊งจึง หรือ ขนมข้าวต้มมัดใหญ่ ขนมแบ๊งใหญ่และขนมแบ๊งสื่งโจว์ หรือ ขนมเขาควาย นาง ฝู่ถิเทียนเผยว่า เมื่อก่อนนี้ ครอบครัวเธอและชาวบ้านในตำบลฯประสบความยากลำบากมาก ในวันตรุษเต๊ตมีแค่เหล้า ข้าวสวยและหมูนิดหน่อยที่ซื้อจากตลาด แต่ในหลายปีมานี้ จากการดูแลเอาใจใส่ของพรรคและรัฐและความพยายามของชาวบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและครอบครัวได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น โดยเมื่อตรุษเต๊ตเวียนมา ทุกครอบครัวต่างฆ่าหมู ไก่และทำขนมแบ๊งใหญ่
“หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชนเผ่าป่าแถนจะจัดกิจกรรมฉลองตรุษเต๊ตตั้งแต่วันที่ 22 เดือน 12 ตามจันทรคติ โดยจะเตรียมถาดอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ”
ชาวบ้านจะมาทานข้าวที่บ้านของทุกครอบครัวในหมู่บ้านจนถึงวันที่ 29 เดือนสิบสองตามจันทรคติ ต่อมา ในวันที่ 30 เดือนสิบสอง จะทำความสะอาดบ้านและจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยในถาดอาหารเซ่นไหว้ต้องมีหมู เนื้อไก่ เหล้า นอกจากนี้ ต้องมีเงินทอง เสื้อผ้าใหม่ กระดาษสาเพื่อรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ทำได้สำหรับตนเองและครอบครัวในปีที่ผ่านมา หมอผี สิ่นวันฟอง ได้เผยว่า สำหรับครอบครัวที่ไม่มีใครประกอบอาชีพหมอผี ต้องรอหมอผีจากที่อื่นมาทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน
“ในวันที่ 30 เดือนสิบสอง ครอบครัวต้องเตรียมไก่ 1 ตัว ถ้วย 10 ใบ เหล้า 1 ขวด ธูป กระดาษสา เงินทองเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้า โดยหมอผีจะประกอบพิธีจนถึงตี 1 ตี 2 เพื่อขับไล่ปีศาจทั้งหมดไม่ให้เข้าบ้าน”
ในค่ำวันที่ 30 เดือนสิบสอง ทุกครอบครัวจะปิดประตูทั้งหมด โดยเจ้าของบ้านจะนำถ้วยน้ำถวายหิ้งบูชาไปล้างและเอาน้ำใหม่ แล้วใช้จานมาปิดฝา ต่อมา จะเติมน้ำทุกๆ 6 เดือน ซึ่งถ้วยน้ำถวายหิ้งบูชาเป็นสัญลักษณ์ของทะเลที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของบรรพบุรุษและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งต้องเติมน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บไม่ให้แผ้วพานสมาชิกในครอบครัว นาง ฝู่ถิเทียน เผยต่อไปว่า
“ในค่ำวันที่ 30 เดือนสิบสอง สมาชิกในครอบครัวจะทานข้าวพร้อมกัน เช่น ตระกูลฝู่จะทานโจ๊กที่ปรุงโดยผู้ชายในตระกูล ส่วนตระกูลสิ่นจะกินข้าวสวย”
พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน |
ตั้งแต่เวลาตี 4 ถึง 6 โมงเช้าของวันตรุษเต๊ตที่ 1 สมาชิกในครอบครัวจะออกไปที่ลานบ้านเพื่อกราบไหว้ฟ้าดิน เทพแห่งป่า เทพแห่งน้ำเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและสมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงในปีใหม่ ต่อจากนั้น จะจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แล้วทำความสะอาดบ้านเพื่อดึงดูดพลังที่ดีและโชคลาภเข้าบ้าน นาย ฝู่วันเซ้ว อาศัยที่หมู่บ้านมีบั๊ก ตำบลเตินบั๊ก อำเภอกวางบิ่ง ได้เผยว่า
“ในเช้าวันตรุษเต๊ตที่ 1 ชนเผ่าป่าแถนจะไปทุ่งนาเพื่อขอพรให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและโชคลาภ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและการเก็บเกี่ยวได้ผลดี”
ในเช้าวันตรุษเต๊ตที่ 1 ชนเผ่าป่าแถนยังจัดพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อขอพรให้มีน้ำสะอาดใช้ตลอดปี ส่วนในวันตรุษเต๊ต ชาวบ้านจะไปอวยพรตรุษเต๊ตและเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เช่น การเล่นตีลูกขนไก่ จัดเทศกาล “ดึงสาก” เทศกาลเต้นไฟ การแข่งขันทำขนมแบ๊งสื่งโจว์ หรือ ขนมเขาควาย ขนมแบ๊งเสื่องและขนมแบ๊งโอ๊ก เป็นต้น โดยกิจกรรมฉลองตรุษเต๊ตและวสันต์ฤดูของชนเผ่าป่าแถนมีวัตถุประสงค์เพื่อขอพรให้เทพเจ้าและบรรพบุรุษปกป้องให้ชาวบ้านมีสุขภาพแข็งแรง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี มีความอยู่ดีกินดีและมีความสุข.