(VOVWORLD) - ประเทศต่างๆได้ปฏิบัติรูปแบบการลงทุนและสนับสนุนด้านวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน โดยเวียดนามสามารถเรียนรู้และปฏิบัติรูปแบบดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์ คล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ภายในประเทศ
รองศ.ดร. เหงวียนถิทูเฟือง หัวหน้าสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติเวียดนาม (thethaovanhoa.vn) |
การลงทุนด้านวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะวัฒนธรรมคงอยู่ ชาติก็คงอยู่และวัฒนธรรมเป็นปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ นาย กาวหงอกแอ๊ง รองผู้อำนวยการโรงละครต๊วยแจ๊ได้เผยว่า
“วัฒนธรรมสะท้อนเกียรติประวัติและขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชาติ อีกทั้งเป็นพื้นฐานให้แก่การกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม โดยท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเข้มแข็งในปัจจุบัน ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังพยายามแสวงหาวิธีใหม่เพื่ออนุรักษ์ พัฒนา เผยแพร่วัฒนธรรม ซึ่งเวียดนามก็ไม่สามารถออกจากแนวโน้มดังกล่าวได้”
ทั้งนี้ นโยบายด้านวัฒนธรรมของเวียดนามเน้นพัฒนาวัฒนธรรมและสังคม แต่ยังไม่ระบุอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนด้านการเงิน รองศ.ดร. เหงวียนถิทูเฟือง หัวหน้าสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติเวียดนามได้เผยว่า
“เราได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนด้านวัฒนธรรม แต่ยังไม่มีนโยบายให้สิทธิพิเศษด้านภาษีและดอกเบี้ยพิเศษสำหรับโครงการลงทุนด้านวัฒนธรรมและศิลปะ อีกทั้งภาครัฐควรลงทุนในด้านนี้และค้ำประกันความสมดุลระหว่างการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชน”
ในหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐด้านวัฒนธรรมยังมีไม่มาก โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เผยว่า เวียดนามควรขยายการลงทุนด้านวัฒนธรรม ยกระดับประสิทธิภาพของโครงการลงทุนภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ปรับปรุงกลไกและนโยบายดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน นาย เหงวียนก๊วกจุง นักดนตรี โปรดิวเซอร์และผู้อำนวยการใหญ่บริษัทแทงเหวียด Production ได้เผยว่า
“ต้องมีแผนลงทุนที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว ส่วนสำนักงานของรัฐบาลควรจัดตั้งสภาวิชาการที่มีการเข้าร่วมของภัณฑารักษ์ผู้คัดเลือกผลงานศิลปะสะสมและศิลปินที่มีมุมมองใหม่และวิสัยทัศน์กว้างไกลเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่กิจกรรมวัฒนธรรม มีการประเมินโครงการศิลปะอย่างมีภาวะวิสัยและกำหนดแนวทางการลงทุนของภาครัฐในด้านนี้”
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆได้ประสบความสำเร็จในโครงการลงทุนและสนับสนุนด้านวัฒนธรรม เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น โดยได้สร้างระบบนิเวศวัฒนธรรมที่หลากหลายผสานกับการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ เช่น กองทุนเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมของสถานประกอบการ ชุมชน องค์กร NGO และนักลงทุนสำคัญล้วนได้รับการสดุดีและการช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่วนที่เวียดนาม ยังไม่มีกลไกให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนในด้านนี้ รองศ.ดร. เหงวียนถิทูเฟือง หัวหน้าสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติเวียดนามได้ให้ข้อสังเกตว่า
“เวียดนามควรเรียนรู้รูปแบบของฝรั่งเศสเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวัฒนธรรม มรดกวัฒนธรรม ศิลปินและการวิจัยในระยะยาวอย่างยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน”
ส่วนกลไกด้านภาษีก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสถานประกอบการลงทุนด้านวัฒนธรรม นักข่าว เจืองเวียนลี นักวิจัยอิสระเกี่ยวกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมได้เผยว่า
“ยุโรปกำหนดอัตราภาษีในระดับต่างๆสำหรับสถานประกอบการและการบริการด้านวัฒนธรรม ส่วนสำหรับเวียดนาม มาตรการที่ดีที่สุดคือทำการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี หน่วยงานบริหารวัฒนธรรม ผู้ที่จัดทำกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญ สถานประกอบการและนักลงทุน”
ในสภาวการณ์ของกระบวนการโลกาภิวัตน์และการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก วัฒนธรรมนับวันมีบทบาทสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์และยกระดับสถานะของประเทศบนเวทีโลก โดยการลงทุนและสนับสนุนด้านวัฒนธรรมไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม พัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์เท่านั้น หากยังสร้างพลังขับเคลื่อนให้แก่การปฏิบัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย.