การเต้นรำ Tắc xình - มรดกวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชนเผ่า ซ้านชัย
Mai Liên -  
(VOVWORLD) -การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ และปัจจุบันทางจังหวัดท้ายเงวียนได้ส่งเสริมการเผยแพร่จุดเด่นทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์นี้ของชนเผ่า ซ้านชัย ในชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว
Hà Linh/VOV5 |
เมื่อมาเที่ยวหมู่บ้านของชนเผ่าซ้านชัย (San Chay) ในจังหวัด ท้ายเงวียน (Thai Nguyen) ผู้คนก็จะมีโอกาสร่วมบรรยากาศที่สนุกสนานด้วยการเต้นรำที่มีชื่อว่า ตั๊กสิ่ง (Tắc xình) ซึ่งเป็นการเต้นรำของกลุ่มชาติพันธุ์ ซ้านชัย ที่เกี่ยวข้องกับการขอพรให้ฤดูการผลิตใหม่ฝนฟ้าเป็นใจให้การเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ การขอบคุณฟ้าดินและเทพเจ้าที่คอยปกป้องให้หมู่บ้านเจริญรุ่งเรือง
การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง มีความผูกพันคู่ไปกับกระบวนการพัฒนาชุมชนของชนเผ่า ซ้านชัย ในอำเภอฟู้เลือง จังหวัดท้ายเงวียนมาแต่เดิมนาน โดยเพลงทำนองนี้มีจังหวะเสียงร้องที่เรียบง่าย ตั๊ก เป็นเสียงที่เกิดจากการกระทบกันของท่อนไม้ไผ่ ส่วน สิ่ง เป็นเสียงที่เกิดจากการทุบท่อนไม้ไผ่ลงบนพื้น การร้องเพลงจะประกอบด้วยกิริยาท่าทางตามจังหวะที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมของชาว ซ้านชัย คุณ หว่าง ถิ หั่ง หัวหน้าทีมนาฏศิลป์ของชุมชน ด่งเตี๊ยน อำเภอ ฟู้เลือง กล่าวเกี่ยวกับการรำ ตั๊กสิ่ง ว่า"ท่ารำสะท้อนวิถีชีวิตในชุมชน การผลิตและการประกอบงานประเพณีต่างๆ เช่น การรำเปิดทาง การรำตั้งหมู่บ้าน ทำไร่ทำนา เก็บผลการผลิต ฉลองฤดูเก็บเกี่ยว เป็นต้น"
นอกจากการแสดงความปรารถนาให้ฝนฟ้าอากาศเอื้ออำนวย ขอให้หมู่บ้านสงบสุขแล้ว การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง ยังแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมแห่งความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชาวบ้าน เช่นในงานบุญข้าวใหม่ดั้งเดิม เมื่อผู้ดำเนินพิธีกล่าวคำพูดที่เป็นสัญญาณให้คนสองคนที่แต่งกายเป็นหมอผีถือกระบอกไม้ไผ่ในมือข้างหนึ่งแล้วยกขึ้นให้สูงเท่าหน้าและใช้ไม้เคาะสองครั้งที่กระบอกไม้ไผ่ให้เกิดเสียง “ตั๊ก ตั๊ก” แล้วนำกระบอกไม้ไผ่ตีลงพื้นอย่างแรงให้เกิดเสียง “สิ่งสิ่ง” ซึ่งจะทำแบบนี้ให้เกิดเสียงดังออกมา 8 ครั้งติดต่อกันทำให้เกิดเป็นท่วงทำนองเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณ เจิ่น ถิ นุ ทีมนาฏศิลป์ของชุมชน ด่งเตี๊ยน อำเภอ ฟู้เลือง ได้เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเต้นรำนี้ว่า" อุปกรณ์ประกอบการเต้นรำ เครื่องดนตรี และจังหวะเต้นไม่ซ้ำกับแนวดนตรีใดๆ โดยอุปกรณ์หลักคือเครื่องเคาะที่ทำจากไม้ไผ่ที่ใช้ตีเข้ากันเป็นจังหวะ เมื่อ มีเสียง ตั๊ก ผู้เต้นจะกระโดดเท้าขึ้น เมื่อได้ยินเสียง สิ่ง ก็จะกระทืบเท้าลง จะเต้นแบบนี้รวม 9 ครั้งทำให้เกิดเสียงตั๊กสิ่ง ต้นเสาตุงที่ใช้ในพิธีถือเป็นสัญลักษณ์ของพืชผลที่เจริญงอกงาม การเก็บเกี่ยวได้ผลดี นกพิราบจะบินเข้ามาส่งสัญญาณนำโชค สร้างบรรยากาศรื่นเริง "
ในทุกหมู่บ้านของชาว ซ้านชัย จะมีทีมแสดงระบำ ตั๊กสิ่ง และร้องเพลง ซ้องเกาะ (Hà Linh/VOV5) |
ด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง ของชาวซ้ายชัยในจังหวัดท้ายเงวียนจึงได้รับการส่งเสริมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ในทุกหมู่บ้านของชาว ซ้านชัย จะมีทีมแสดงระบำ ตั๊กสิ่ง และร้องเพลง ซ้องเกาะ โดยชาวบ้านเชื่อว่ายิ่งมีผู้คนเข้าร่วมเต้นรำและใช้เครื่องเคาะสร้างจังหวะมากเท่าไหร่ จะช่วยส่งคำอธิฐานให้เทพเจ้าประทานพรให้ชาวบ้านมีการเก็บเกี่ยวที่ดี การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาว ซ้านชัย และได้รับการส่งเสริมคุณค่าทางมรดกอย่างเข้มแข็ง ช่วยส่งเสริมจิตใจแห่งความสามัคคีในชุมชนและขยายการแลกเปลี่ยนผสมผสาน
"เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชนเผ่าเราจึงฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และสอนผู้ไม่รู้ให้คนหนุ่มสาวตระหนักในการรักษาประเพณี รักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน"
"ฉันได้แนะนำและมีการปรับปรุงเพิ่มเติมท่ารำให้เด็กๆได้เรียนรู้ ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวที่สลับซับซ้อน ผู้เต้นจะสามารถเชิญชวนผู้ชมให้เข้าร่วมเต้นรำกับพวกเขาได้"
การเต้นรำ ตั๊กสิ่ง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนในชุมชนชาวเผ่า ซ้านชัย และกลายเป็นมรดกที่จับต้องไม่ได้ของชาติของจังหวัดท้ายเงวียน อันมีส่วนร่วมเพิ่มความหลากหลายให้แก่คลังวัฒนธรรมที่เป็นมรดกของชนเผ่าต่างๆในเวียดนาม./.
Mai Liên