ตุงตุงยาย้า-การเชื่อมโยงชาวเกอตูกับโลกเบื้องบน
Lan Anh/VOV5 -  
(VOVworld)-ในความเชื่อของชนเผ่าเกอตูการรำตุงตุงยาย้าถือเป็นวิธีการที่เชื่อมโลกของมนุษย์กับโลกเบื้องบนหรือโลกแห่งจิตวิญญาณ โดยเป็นศิลปะการระบำของทั้งหญิงและชายที่มักจะมีขึ้นในกิจกรรมสำคัญๆของหมู่บ้าน
(VOVworld)-ในความเชื่อของชนเผ่าเกอตูการรำตุงตุงยาย้าถือเป็นวิธีการที่เชื่อมโลกของมนุษย์กับโลกเบื้องบนหรือโลกแห่งจิตวิญญาณ โดยเป็นศิลปะการระบำของทั้งหญิงและชายที่มักจะมีขึ้นในกิจกรรมสำคัญๆของหมู่บ้าน
|
สำหรับชาวเกอตู ศิลปะการรำตุงตุงยาย้า เป็นดั่งสายรุ้งเชื่อมโยงมนุษย์กับโลกเบื้องบนดังนั้นจึงมีความผูกพันธ์กับชุมชนและมักจะมีขึ้นในงานเทศกาลสำคัญต่างๆเช่นงานขึ้นบ้านใหม่ งานแรกนาขวัญหรือปีใหม่ เป็นต้น โดยชาวเกอตูทุกเพศทุกวัยต่างรู้จักและตระหนักถึงการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้เอาไว้จนถือเป็นกิจวัติประจำวัน สำหรับคุณบลิง ที เซียก ชาวอ.ดงยาง หลังการทำนาทำไร่เธอจะให้เวลาสอนเด็กๆรำตุงตุงยาย้าในหมู่บ้านใครๆก็รู้จักการรำนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราจะสอนให้เด็กรู้จักเพื่อช่วยกันสืบสานต่อไป ซึ่งการพยายามทำเช่นนี้จะสามารถปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ทุกคนเกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเกอตูเราได้ ถึงแม้การฝึกซ้อมฟ้อนรำตุงตุงยาย้าไม่มีดนตรีที่คึกคักเหมือนในเทศกาลต่างๆแต่เด็กๆที่ร่วมการฝึกซ้อมต่างพยายามและตั้งหน้าตั้งตาทำการฝึกซ้อมตามแบบท่ารำที่นางเซียกสอนอย่างเต็มที่ เด็กหญิงบริวลี เผยว่าหนูฝึกเรียนการรำนี้มากว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก็ยากพอสมควรโดยเฉพาะท่าเดิน หนูสมัครเข้าเรียนเองเพราะชอบศิลปะการรำของชาวเกอตูและอยากรำสวยรำเก่งเหมือนพี่ป้าน้าอา
ในภาษาเกอตู คำว่าตุงตุงหมายถึงความเข้มแข็งมั่นคงก้าวรุดหน้าไป ซึ่งก็เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าในการพิชิตและบังคับให้ธรรมชาติอยู่ใต้อํานาจของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นท่ารำตุงตุงจึงเป็นท่ารำของฝ่ายชายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ส่วนคำว่า ยาย้าหมายถึงการเรียงแถวตรง ลีลาสะท้อนให้เห็นถึงความหมายทางจิตวิญญาณที่กราบไหว้เทพยดาฟ้าดินที่ดลบันดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ นาย ติงปาย อยู่อ.ดงยางเผยว่า ท่ารำของฝ่ายชายจะมีความเข้มแข็งส่วนฝ่ายหญิงมีลีลา ท่ารำ อ่อนช้อย มือยกขึ้นสูงเพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมจำนนและขอบคุณฟ้าดินพร้อมจังหวะของเท้า ถ้าทำจังหวะได้ดีท่าทางกรีดกรายจะออกมาอย่างปราณีต งดงาม แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างละเอียดอ่อน
ชุดแต่งกายในการรำตุงตุงยาย้าของผู้ชายคือใส่โค้หรือผ้าเตี่ยว เสื้อลายพื้นเมือง เดินเท้าเปล่ามือถือหอกหรือจับมือคนข้างๆแล้วจูงมือขึ้นสูงเกินศีรษะ เดินตามจังหวะดนตรีพร้อมส่งเสียงโห่ร้องที่สะท้อนพลังที่เข้มแข็งของบุรุษดังสนั่นกันไปทั่ว ส่วนผู้หญิงก็ใส่ชุดลายพื้นเมืองของชนเผ่าที่เปิดไหล่ มีสีสันสดใส ตามองไปด้านหน้าหน้าตายิ้มแย้มทั้งชายและหญิงจะเคลื่อนที่ตามกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกาโดยยืนรำอยู่กับที่แล้วขยับเท้าตามเข็มนาฬากาบ้าง เดินไปมาบ้างตามจังหวะของเสียงกลองเสียงฆ้อง เมื่อดนตรีเริ่มดังขึ้นผู้หญิงจะเดินออกมาก่อนแล้วต่อด้วยผู้ชาย โดยวงตรงกลางจะเป็นหญิงและวงรอบนอกจะเป็นชาย
ในการระบำรำฟ้อนต่างๆ ชาวเกอตูนิยมการรำตุงตุงยาย้ามากที่สุด เพราะเป็นการรำพื้นบ้านที่มีการผสมผสานของพลังความแข็งแกร่งของผู้ชายกับความนิ่มนวลละเอียดอ่อนของผู้หญิง ประกอบด้วยเสียงดนตรีพื้นเมืองที่คึกคักเร้าใจที่ดังกังวาลไปทั่วเขตป่าเขาอันไพศาลเสมือนเป็นคำอธิฐานของชาวบ้านเกอตูที่ส่งถึงบรรพบุรุษและเทวดาฟ้าดินด้วยความเชื่อว่า พระแม่ธรณีและพระแม่โพสพจะดลบันดาลให้ทุกคนมีชีวิตที่อิ่มหนำ ส่วนเทพผู้ปกครองฟากฟ้าให้มนุษย์มีความรู้มีความมั่นใจในพลังของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติ พัฒนาชีวิตที่ยืนยงคงคู่ไปกับดินฟ้าอากาศและป่าเขาลำเนาไพรอย่างชั่วนาตาปี./.
Lan Anh/VOV5