อาชีพเพาะปลูกไม้ผลช่วยชาวบ้านในอำเภอซงม้า จังหวัดเซินลา หลุดพ้นจากความยากจน
Tuyết Lan-Thu Thùy; Vĩnh Phong -  
(VOVWORLD) - อำเภอซงม้า เป็นหนึ่งในอำเภอที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเซินลา โดยเฉพาะมีพื้นที่ปลูกลำไยอยู่ที่ราว 7,600 เฮกตาร์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการลงทุนและการพัฒนาไม้ผลในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนและสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
จากการปลูกลำไยทำให้หลายครัวเรือนหลุดพ้นจากความยากจน |
“ครอบครัวฉันมีรายได้ที่มั่นคงตั้งแต่เริ่มปลูกลำไย ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”
นี่คือความกล่าวของนาง แหล่งถิแน ชาวบ้านชนเผ่าไทในหมู่บ้าน แม้บอน ตำบลหน่าหงิว อำเภอซงม้า จังหวัดเซินลา เกี่ยวกับผลลัพธ์ความสำเร็จของครอบครัวในการเพาะปลูกไม้ผล โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครอบครัวนาง แหล่งถิแน ได้รับวงเงินสนับสนุน 30 ล้านด่ง เพื่อติดตั้งเตาอบแห้งลำไย ซึ่งไม่เพียงแค่มีส่วนช่วยในการแปรรูปลำไยที่เก็บจากพื้นที่กว่า 3 พันตารางเมตรของครอบครัวเธอเท่านั้น แต่เขาเองยังสามารถรับซื้อลำไยจากครัวเรือนอื่นๆ โดยรอบเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้ง นาง แหล่งถิแน เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า
“ลำไยลูกเล็กมีราคาขายไม่สูงมาก ดังนั้น หลังจากได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานพรรคและรัฐในการทำเตาอบแล้ว พวกเราจึงทำการปอกเปลือกและอบแห้งลำไยเพื่อสามารถขายในราคาที่ดีกว่า อย่างครอบครัวฉัน มีกำไรอยู่ที่ 100 ล้านด่งต่อปี”
ส่วนนาย ก่าวันหว่าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแม้บอน เผยว่า ที่นี่มีทั้งหมด 225 ครัวเรือน รวมประชากรกว่า 990 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าไท โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตต่ำมาเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามนโยบายพัฒนาการเพาะปลูกไม้ผล จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ปลูกไม้ผลในหมู่บ้านอยู่ที่ 110 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่เป็นลำไยและมะม่วง ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อัตราครอบครัวที่ยากจนในพื้นที่ลดลงอย่างมาก จากตัวเลข 25 ครัวเรือนเมื่อปลายปี 2023 เหลือ 12 ครัวเรือนในช่วงปลายปี 2024 โดยหลายครอบครัวมีรายได้นับร้อยล้านด่งต่อปี
“ตอนนี้ ชาวบ้านมีชีวิตและฐานะที่ดีขึ้น มีบ้านสำหรับอยู่อาศัย สำหรับหมู่บ้านแม้บอนเอง ชาวบ้านก็มีรายได้ที่มั่นคงจากการเพาะปลูกไม้ผลเพื่อสร้างบ้านให้กับครอบครัวตนเอง”
จากการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสร้างพันธุ์ใหม่ ทำให้ฤดูลำไยซงหมานานยืดเยื้อถึง 6 - 7 เดือน |
ส่วนในตำบลเชียงคอง มี 14 ครัวเรือนที่รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์บริการด้านการเกษตร บ๋าวมิง ด้วยพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลอยู่ที่ประมาณ 60 เฮกตาร์ นาย เลแยงฟุ๊ก รองผู้จัดการสหกรณ์ฯ เผยว่า ด้วยเป้าหมายการเพิ่มผลผลิต พร้อมยกระดับคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์ลำไย ให้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกสหกรณ์ได้ใส่ใจในการศึกษาเรียนรู้และทำการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งช่วยให้สหกรณ์ฯ มีลำไยสายพันธุ์ใหม่เพิ่มอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ลำไยพันธุ์เหมี่ยนเทียด ลำไยสุกเร็วพันธุ์ T6 ซึ่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
“พวกเราต้องศึกษาและค้นคว้าลำไยสายพันธุ์มาตรฐานที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกๆ มีสายพันธุ์ เหมี่ยนเทียด นั้นถือว่าดีมาก แต่ลำไยสายพันธุ์นี้ไม่สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล ดังนั้น ต้องค่อยๆ เปลี่ยนมาปลูกลำไยสุกเร็วพันธุ์ T6 หรือ แอ๊งหว่าง ซึ่งมีรสหวานและสามารถปลูกนอกฤดูกาลได้ ทำให้ฤดูปลูกลำไยที่มีแค่ 1 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 6-7 เดือน ซึ่งสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้แก่เกษตรกร”
สำหรับอำเภอซงม้า ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกไม้ผลราว 1 หมื่น 1 พันเฮกตาร์ ซึ่งในนั้นมีการเพาะปลูกลำไยเกือบ 7,600 เฮกตาร์ มีผลผลิตประมาณ 50,000 ตัน พร้อมราคาขายที่ดี ได้มีส่วนช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้ปลูก นาง เกิ่มถิหงอกเอี๊ยน รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอซงม้า เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากการรณรงค์ให้เกษตรกรในหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ให้ความสนใจต่อการปลูกลำไยนอกฤดูกาล หรือผสมกับการปลูกม่วงแล้ว ทางการอำเภอยังให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้ระบบการบริหารจัดการคุณภาพ เช่น แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของเวียดนาม VietGAP หรือตามมาตรฐานระดับโลก GlobalGAP เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการตามข้อกำหนดที่เข้มงวดของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ผลไม้ของจังหวัดเซินลา ไม่เพียงแต่มีการจำหน่ายในตลาดขายส่งและซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนามเท่านั้น หากยังได้รับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน หรือ นิวซีแลนด์ อีกด้วย
“ในช่วงเวลาข้างหน้า ทางการปกครองท้องถิ่นจะทำการรณรงค์ให้ชาวบ้านประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการเพาะปลูกไม้ผล รวมถึงการให้วงเงินสนับสนุนต่างๆ แก่โรงงานและครัวเรือนที่ประกอบกิจการรับซื้อ แปรรูป และบรรจุสินค้าเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเน้นในการกำชับการดำเนินงานตามแผนการผลิต การแปรรูป และการบริโภค เพื่อตอบสนองการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การเกษตรของอำเภอ”
ทั้งนี้ สัดส่วนครอบครัวที่ยากจนในอำเภอซงม้า ได้ลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อปี 2023 และคาดว่า จะลดมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ในปี 2024 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภายหลังช่วงฤดูผลไม้ที่มีผลผลิตสูง โดยเฉพาะฤดูเพาะปลูกลำไยในจังหวัดเซินลานั้น จะมีครอบครัวจำนวนมากที่หลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่งคั่งและมั่นคงต่อไป./.
Tuyết Lan-Thu Thùy; Vĩnh Phong