(VOVWORLD) - วันที่ 18 ธันวาคมทุกปี สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลหรือ IDM ในสภาวการณ์ที่ความไร้เสถียรภาพและการปะทะเกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกในปัจจุบัน การย้ายถิ่นยังคงเป็นหัวข้อสำคัญของหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม นับวันมีเสียงพูดเกี่ยวกับความจำเป็นในการรับทราบการมีส่วนร่วมที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อพยพย้ายถิ่นทั่วโลกมากขึ้น
เมื่อเดือนธันวาคมปี 2000 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดวันที่ 18 ธันวาคมทุกปีเป็นวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลหรือ IDM เพื่อเผยแพร่ข้อความของ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว” ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้อนุมัติเมื่อปี 1990
ภาพรวมที่ไม่สดใสเกี่ยวกับปัญหาการย้ายถิ่นฐาน
ใน “รายงานการย้ายถิ่นฐานโลกปี 2024” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือ IOM ได้เผยว่า จนถึงปี 2020 โลกมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานประมาณ 281 ล้านคน ตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลข 128 ล้านคนเมื่อปี 1990 และเพิ่มขึ้น 3 เท่าของตัวเลขคาดการณ์ผู้อพยพเมื่อปี 1970 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การย้ายถิ่นยังคงเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก ถึงแม้ว่า จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานจะคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 3.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลกในปี 2020 เท่านั้น
ตามรายงานของ IOM การย้ายถิ่นเป็นไปตามแนวโน้มที่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและชุมชน และการอพยพย้ายถิ่นถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์ที่ความไม่มั่นคงและการปะทะได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก ปัญหาที่ร้อนระอุที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นคือการถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่น การอพยพอย่างผิดกฎหมาย และจำนวนผู้อพยพที่เสียชีวิตกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล การปะทะครั้งใหญ่ในซูดาน ฉนวนกาซา ยูเครน ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่ยืดเยื้อในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาใต้กำลังก่อให้เกิดกระแสผู้อพยพและผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกต้องเผชิญนับตั้งแต่หลังกระแสผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเมื่อปี 2015 นาย ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเผยว่า
“ปัจจุบัน ทั่วโลก มีผู้คนประมาณ 123 ล้านคนที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนอพยพเนื่องจากปัญหาความรุนแรง การปะทะและการถูกสังหารที่สร้างความเสียหายที่ร้ายแรงอย่างเช่นสำหรับปัญหาที่เลบานอนหรือในฉนวนกาซานั้นจำเป็นมีคำสั่งหยุดยิง แต่ก็ยังไม่สามารถกลายเป็นความจริงได้”
การบังคับย้ายถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายได้ทำให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย ตามรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO จำนวนผู้เสียชีวิตในระหว่างการอพยพเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือกว่า 8,500 คน โดยในเส้นทางการอพยพหลักๆ เช่น จากแอฟริกาเหนือไปยังยุโรปผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากฝรั่งเศสไปยังอังกฤษผ่านช่องแคบม็องช์ (Manche) หรือดาเรียนแกป (Darien Gap) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่เชื่อมระหว่างปานามากับโคลอมเบียในอเมริกากลางนั้นได้บันทึกจำนวนผู้อพยพเสียชีวิตมากที่สุดในรอบหลายปี
แต่อย่างไรก็ตาม กำลังมีสัญญาณในเชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์การย้ายถิ่นฐานทั่วโลก โดยเฉพาะในซีเรียซึ่งเป็นจุดร้อนระอุเกี่ยวกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มกบฏ Hayat Tahrir al-Sham หรือ HTS โค่นล้มทางการของนาย บาชาร์ อัล-อัสซาด และเข้ายึดอำนาจ คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมากกลับประเทศ นาง Rema Jamous Imseis ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติที่ดูแลภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเผยว่า ชาวซีเรียประมาณ 1 ล้านคนจะเดินทางกลับประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้า ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตุรกีที่รับผู้อพยพชาวซีเรียไปแล้ว 3 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2011
ยกย่องส่วนร่วมของผู้อพยพ
ในข้อความที่เผยแพร่เนื่องในโอกาสวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลปีนี้ IOM ยังคงเตือนเกี่ยวกับปัญหาด้านมนุษยธรรมที่นับวันเพิ่มมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานทั่วโลก โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังอพยพ แต่อย่างไรก็ตาม IOM ยังย้ำถึงอีกประเด็นหนึ่งของการย้ายถิ่นฐานคือ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่นับวันเพิ่มมากขึ้นของชุมชนผู้อพยพทั่วโลกต่อประเทศต่างๆ ตามรายงานสถิติของ IOM จำนวนเงินที่ส่งกลับประเทศและครอบครัวของผู้ย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น 7 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จาก 1 แสน 2 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2000 ขึ้นเป็น 8 แสน 3 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และจำนวนเงินเหล่านี้เป็นแหล่งการเงินที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะ อินเดีย อยู่ที่ 1 แสน 1 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เม็กซิโกอยู่ที่ 6 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 3 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อย้ำถึงส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของชุมชนผู้อพยพทั่วโลก สหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อของวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลปีนี้คือ “การยกย่องส่วนร่วมและการให้ความเคารพสิทธิของผู้อพยพ” โดย รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโครงการปฏิบัติการของ IOM Ugochi Daniels ได้เผยว่า
“ในเมื่อเรากำลังต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่มีวันสิ้นสุด IOM เชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นอย่างเหมาะสมจะเป็นพื้นฐานให้แก่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศ”
เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ย้ายถิ่นและช่วยให้ประเทศต่างๆ ใช้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ย้ายถิ่นอย่างเต็มที่ IOM จึงออกคำเรียกร้องทั่วโลกปี 2025 เพื่อระดมแหล่งเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติการใน 170 ประเทศและดินแดน ช่วยเหลือผู้อพยพอย่างน้อย 100 ล้านคนทั่วโลก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามคำมั่นที่ถูกระบุในข้อตกลงระดับโลกเพื่อการย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบ และอย่างเป็นระบบหรือ GCSORM ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสหประชาชาติเมื่อ 6 ปีก่อน ข้อตกลงฉบับนี้ได้เสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องชีวิตและสิทธิของผู้อพยพ อีกทั้ง สร้างกรอบทางนิตินัยที่มั่นคงเพื่อสามารถระดมการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพของผู้ย้ายถิ่นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและชุมชนที่รับผู้อพยพ.