(VOVWORLD) -เมื่อมาเยือนผืนแผ่นดินแห่งบรรพกษัตริย์หุ่ง ประชาชนและนักท่องเที่ยวมักจะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านหุ่งโล ซึ่งเป็นหมู่บ้านโบราณที่มีอายุกว่า 300 ปีริมฝั่งแม่น้ำโล โดยมีโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีความผูกพันกับความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งและการร้องเพลงทำนองซวาน
วิหารหุ่งโล (Photo:baophutho.vn) |
ในสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในช่วงศตวรรษที่ 7 – ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตศักราช หมู่บ้านหุ่งโลมีชื่อว่า จางขาหลาม เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำโลในเขตราชธานีวันลาง โดยในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านสม หมู่บ้านอานหลาม แต่หลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคมปี 1945 หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านหุ่งโลและยังคงรักษาเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเวียดโบราณ โดยเฉพาะวิหารหุ่งโล
ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า จางขาหลามเคยเป็นสถานที่ที่กษัตริย์หุ่ง และขุนนางแวะพักระหว่างการเดินทาง ซึ่งกษัตริย์หุ่ง ทรงเห็นว่า ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในเวลาต่อมา ชาวบ้านได้ก่อสร้างวิหารบูชากษัตริย์หุ่งเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของกษัตริย์หุ่ง จนถึงสมัยของกษัตริย์เลฮีตงเมื่อปี 1697 วิหารหุ่งโลได้รับการก่อสร้างหันหน้าไปทางภูเขาเหงียหลิง นาย เหงวียนวันต่อง เจ้าอาวาสวิหารหุ่งโล ได้เผยว่า
“วิหารหุ่งโลเป็นสถานที่บูชากษัตริย์หุ่งและเทพเจ้าแห่งภูเขาเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ประชาชนมีความอิ่มหนำผาสุก วิหารหุ่งโลได้รับหนังสือรับรองในสมัยราชวงศ์ต่างๆ เช่น กษัตริย์ควางจง กษัตริย์ยาลอง กษัตริย์เถียวจิและกษัตริย์ตื่อดึ๊ก จนถึงขณะนี้ วิหารแห่งนี้ ยังคงอนุรักษ์สภาพเดิมเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง”
การร้องเพลงทำนองซวาน ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก |
แม้จะผ่านความผันผวนของประวัติศาสตร์แต่สถาปัตยกรรมโบราณของที่นี่ยังคงได้รับการอนุรักษ์และได้รับการรับรองเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ระดับชาติเมื่อปี 1990 เมื่อมาที่นี่ นักท่องเที่ยวจะเห็นความเก่าแก่ของประตูเข้าวิหาร ลวดลายตกแต่งและชายคา โดยเฉพาะวิหารแห่งนี้ยังคงเก็บรักษาเครื่องบูชาเอาไว้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะคำกลอนคู่ 43 ชุดที่เชิดชูความงามของบ้านเกิดและคุณูปการของบรรพกษัตริย์หุ่ง คุณ หลาถิห่งถวี เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมตำบลหุ่งโล เมืองเวียดจี จังวหวัดฟู้เถาะได้เผยว่า
“วิหารหุ่งโลเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุโบราณและสมบัติที่มีค่า รวมทั้งหาบ 5 ชุดที่ใช้ในขบวนแห่ของถวายไปยังวิหารหุ่งในงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งตรงวันที่ 10 มีนาคมและเทศกาลหมู่บ้านหุ่งโล หมู่บ้านหุ่งโลได้รับรางวัลที่หนึ่งในการจัดขบวนแห่บวงสรวงเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน เมื่อปี 1918 กษัตริย์เหงวียนทรงมอบป้าย “หุ่งโลกี๋เหนียมเด๋เญิดโหยให้แก่หมู่บ้านหุ่งโล”
วิหารหุ่งโลมีความผูกพันกับชีวิตทางจิตวิญญาณของชาวบ้านหลายรุ่น ส่วนเทศกาลหมู่บ้านสมก็ถือเป็นเทศกาลเก่าแก่ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งในโอกาสงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือน 3 ตามจันทรคติและพิธีบูชาเทพเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือน 9 ตามจันทรคติ แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือพิธีแห่สิ่งของถวายบรรพกษัตริย์หุ่งในงานบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งพิธีนี้ของตำบลหุ่งโลและเครื่องถวายที่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิมได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของชาวบ้านที่นี่ต่อประวัติศาสตร์ในการอนุรักษ์คุณค่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะมรดกที่มีความผูกพันกับความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง เมื่อมาเยือนหมู่บ้านหุ่งโลในช่วงนี้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านโบราณ ท่ามกลางเสียงกลอง ชาวบ้านชวนกันเข้าร่วมงานเทศกาล แสดงความความเคารพนับถือต่อบรรพกษัตริย์หุ่งที่มีคุณูปการในการสร้างชาติ
วิหารหุ่งโลไม่เพียงแต่มีความผูกพันกับความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งเท่านั้นหากยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและงานเทศกาล การร้องเพลงทำนองซวาน ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกเป็น 1 ใน 4 แขวงที่ร้องเพลงทำนองซวานของจังหวัดฟู้เถาะที่ยังคงอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองซวานโบราณ
ท่ามกลางบรรยากาศของวิหารโบราณ เสียงกลองที่คึกคัก การร้องเพลงทำนองซวานของบรรดาศิลปินได้สร้างบรรยากาศวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านในเขตชนบทของเวียดนาม นาง ฝู่งถิฮวาเล หัวหน้าฝ่ายการบริหารการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดฟู้เถาะได้เผยว่า
“เมื่อมาเยือนหมู่บ้านโบราณหุ่งโล นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสรับชมการแสดงการร้องเพลงทำนองซวาน ศึกษาเกี่ยวกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์หุ่ง”
นอกจากวิหารโบราณที่มีอายุกว่า 300 ปีแล้ว หมู่บ้านหุ่งโลยังมีบ้านโบราณที่มีอายุนับร้อยปีประมาณ 50 แห่ง ที่มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมข้าวนาดำ นาย หลาเตี๊ยนบอง รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลหุ่งโลได้เผยว่า
“คณะกรรมการประชาชนตำบลฯเน้นประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรม นอกจากการธำรงและพัฒนาหมู่บ้านศิลปหัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ทางตำบลฯกำลังอนุรักษ์บ้านโบราณเป็นอย่างดี”
หมู่บ้านหุ่งโลไม่เพียงแต่มีบรรยากาสที่สงบสุขของหมู่บ้านเวียดนามเท่านั้น หากยังมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมของยุคกษัตริย์หุ่งอีกด้วย โดยประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักในการอนุรักษ์ความโดดเด่นพิเศษนี้เพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง.